2 February - World Wetlands Day (In Thai)

Thematic Areas: Marine and Coastal Resources

พื้นที่ชุ่มน้ำ: ระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ถูกมองข้ามและกำลังจะสูญหายไป

รู้หรือไม่ “พื้นที่ชุ่มน้ำ” มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพวกเรา และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อย่างเช่น หนองน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง พรุ ทะเลสาบ ปากแม่น้ำ ทะเลและชายฝั่ง รวมถึงแหล่งน้ำที่มนุษย์เราสร้างขึ้น ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่บางคนอาจไม่รู้ว่า พื้นที่เหล่านี้เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” (Wetlands) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำถูกรุกล้ำทำลาย เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตร ที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ โดยจากข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำโลกมีอยู่ราว 5.2-6.4 พันล้านไร่ หรือ 1.6-2.0% ของพื้นที่โลก ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด 22.88 ล้านไร่ หรือ 7.5% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งถูกทำลายจนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

กรณีจังหวัดเชียงรายและสุราษฎร์ธานีที่เพิ่งประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงเมื่อปี 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายโครงการ URBAN ได้สำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทนพื้นที่ชุ่มน้ำภายในแผ่นดินใหญ่และพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง พบว่ามีแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยพื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองและรอบเมืองเชียงราย 1.22 แสนไร่ ปัจจุบันลดลง 1.60% ขณะที่สุราษฎร์ธานีพบพื้นที่ชุ่มน้ำ 9.53 แสนไร่ ลดลงกว่า 5% จากปี 2552

สาเหตุสำคัญที่พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเคยระบุไว้ ก็คือ การบุกรุกและถูกคุกคามโดยกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การขยายพื้นที่เกษตร และอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ล้วนส่งผลกระทบต่อศักยภาพและความสามารถทางธรรมชาติของพื้นที่ชุ่มน้ำที่จะสามารถเป็นพื้นที่ซับน้ำและปกป้องเมือง
ต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต

เนื่องในโอกาสวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ World Wetlands Day วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ในปีนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการ “ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่ออนาคตของเรา - รู้คุณค่า ร่วมปกป้อง สร้างแรงขับเคลื่อน” (PROTECTING WETLANDS FOR OUR COMMON FUTURE - Value, Protect, Inspire) เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและปกป้องระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

TEI ตระหนักว่าการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำให้ยังคงอยู่และมีขีดความสามารถตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นฐาน หรือ Nature-based Solution (Nbs) และช่วยให้เมืองสามารถตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้


เรียบเรียงโดย: พรชนก เสวตวงษ์ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย


แหล่งข้อมูล:

  • สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, 2567, ข้อมูลศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงรายและสุราษฎร์ธานี, ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสามารถของเมืองและธรรมชาติในการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ (URBAN)

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2562, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย

  • สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี, 2565, แบบรายงานข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี