17 June - World Day to Combat Desertification and Drought (In Thai)

Thematic Areas: Climate Adaptation

วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก (World Day to Combat Desertification and Drought) ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เพื่อ เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ความตระหนักถึงภาวะการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความเสื่อมโทรมของที่ดินและภัยแล้ง โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งประชาสัมพันธ์การดำเนินงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ ในลำดับที่ 174 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2544 โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่รับผิดชอบในฐานะหน่วยงานผู้ประสานงานระดับชาติ
 
โดยหัวข้อสำคัญ (Theme) ในปี 2567 คือ “ร่วมพลิกฟื้นผืนดิน: มรดกเรา อนาคตเรา” หรือ “United for Land: Our Legacy. Our Future” ซึ่งในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 นี้จะมีการจัดประชุมระดับนานาชาติขึ้นที่เมืองบอนน์ (Bonn) ประเทศเยอรมนี เพื่อเน้นย้ำเรื่องการดูแลรักษา คุ้มครองและป้องกันที่ดินเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งของคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกหลานในอนาคต อีกทั้งโอกาสดังกล่าวยังตรงกับวาระครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญา UNCCD อีกด้วย ซึ่งช่วงปลายปีจะมีการจัดประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ครั้งที่ 16 (COP 16) ขึ้นในระหว่างวันที่ 2 – 13 ธันวาคม 2567 ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
 
สำหรับปัญหาความแห้งแล้งซ้ำซากสู่ภาวะการเป็นทะเลทรายของประเทศไทย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผยผลสำรวจโดยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงรุนแรงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายมากกว่า 6.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็นพื้นที่ราบ 2.4 ล้านไร่ และพื้นที่สูง 4.5 ล้านไร่ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในปัจจุบันยังส่งผลและเร่งให้หลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะการกลายสภาพเป็นทะเลทรายรวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1.5-2.0 องศาเซลเซียส นำไปสู่การสูญเสียน้ำและภาวะแห้งแล้งมากถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้า
 
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะหน่วยงานทางวิชาการที่ถูกจัดเป็นหนึ่งในหน่วยงานคลังสมอง (Think Tanks) ด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 (SOE67) รายสาขาทั้ง 11 สาขา โดยเฉพาะสาขาทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน ทั้งในส่วนของแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่แรงกดดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน แรงกดดันที่เป็นสาเหตุหรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน สถานการณ์ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดินในปัจจุบัน และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย แผน มาตรการ แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์


เรียบเรียงโดย: สุพรรณิภา หวังงาม นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
#สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย #TEI #วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก #WorldDayToCombatDesertificationAndDrought #OurLegacyOurFuture2024