16 Junr - World Sea Turtle Day (In Thai)

Thematic Areas: Biodiversity

เต่าทะเล สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์แห่งท้องทะเล
 
เนื่องในวันเต่าทะเลโลก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ 6 ความหัศจรรย์ของเต่าทะเลที่ไม่เหมือนสัตว์ชนิดใดในโลก

  1. เปลี่ยนเท้าป้อมเป็นใบพาย ในอดีตเต่าทะเลอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดบนบก แต่ได้วิวัฒนาการตัวเองไปอาศัยอยู่ในทะเล ด้วยการเปลี่ยนเท้าสั้นป้อมทั้ง 4 ข้างให้กลายเป็นใบพาย เพื่อให้สามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว
  2. เต่ายักษ์อาร์คีลอน มีการขุดค้นพบโครงกระดูกของเต่าทะเลอาร์คีลอน (Archelon) ในอเมริกาเหนือ อาศัยอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส มีขนาดใหญ่ถึง 4.5 เมตร และมีน้ำหนักมากถึง 2.2 ตัน
  3. มีเพียง 7 ชนิดเท่านั้น ปัจจุบันทั่วโลกพบเต่าทะเลเพียงแค่ 7 ชนิดเท่านั้น พบในประเทศไทยถึง 5 ชนิด คือ เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน อีก 2 ชนิด คือ เต่าหญ้าแคมป์ พบบริเวณอ่าวเม็กซิโกและทะเลแคริบเบียน ส่วนเต่าหลังแบน พบเฉพาะในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น
  4. กำหนดเพศด้วยอุณหภูมิของทราย เพศของเต่าทะเลจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของพื้นทรายที่แม่เต่ามาวางไข่ โดยอุณหภูมิสูงกว่า 32 องซาเซลเซียส ลูกเต่าจะเป็นเพศเมีย อุณหภูมิต่ำกว่า 28 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะเป็นเพศผู้
  5. กลับมาวางไข่ ณ แหล่งกำเนิด ลูกเต่าทะเลสามารถจดจำแหล่งกำเนิดได้ทันทีที่เกิดและคลานลงสู่ทะเล ด้วยการจำคุณสมบัติทางเคมีของสภาพแวดล้อม เมื่อลูกเต่าทะเลเติบโตเต็มที่ก็จะเดินทางกลับมาวางไข่แพร่พันธุ์ในแหล่งเดิมเสมอ
  6. ช่วยรักษาสมดุลให้ระบบนิเวศ เต่าทะเลทั้ง 7 ชนิด มีความสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งผ่านพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเต่ามะเฟืองช่วยควบคุมจำนวนแมงกะพรุนไม่ให้มีมากจนกระทบต่อจำนวนประชากรสัตว์น้ำ เต่ากระกินฟองน้ำในแนวปะการัง ช่วยให้ปะการังแข็งแรง เต่าตนุกินหญ้าทะเล ช่วยให้เกิดการแตกใบใหม่และสมบูรณ์มากขึ้น
 
นี้เป็นความมหัศจรรย์เพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เต่าทะเลยังมีเรื่องราวอีกมากให้ค้นหา แต่น่าเสียดายที่ปัจุบันเต่าทะเลทั่วโลกกำลังค่อย ๆ หายไปเพราะน้ำมือมนุษย์ เต่าทะเลทั้ง 7 ชนิด กำลังมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากปัญหาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งที่เสื่อมโทรม ทั้ง การกินขยะและถูกขยะรัดพันร่างกายจากขยะจำนวนมหาศาลที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล การติดเครื่องมือประมง แหล่งวางไข่ถูกทำลาย การถูกรบกวนจากการท่องเที่ยวที่ไม่มีการควบคุม รวมถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิทรายสูงขึ้น ส่งผลให้มีเต่าทะเลเพศผู้น้อยลง ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เต่าทะเลลดจำนวนลงอย่างมาก
 
สถาบันสิ่งแวดล้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความรู้ สร้างความตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของเต่าทะเล และช่วยปกป้องดูแลรักษาเต่าทะเลด้วยการส่งเสริมการลดการสร้างขยะและมีการจัดการขยะที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมการบริโภคและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เต่าทะเลยังคงอยู่คู่มหาสมุทรร่วมกับเราต่อไป
อ้างอิงข้อมูล
1) https://www.americanoceans.org/species/archelon/
2) https://km.dmcr.go.th/c_6
เรียบเรียงโดย
นวลพรรณ คณานุรักษ์ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย