13 February - Love Hornbills Day (In Thai)

Thematic Areas: Biodiversity

กุมภาพันธ์...เดือนแห่งความรัก ที่หลายคน หลายคู่รักรอคอย และยังมีอีกชีวิตที่รอคอยความรัก ก็คือ  “นกเงือก” ซึ่งมีจับคู่และผสมพันธุ์กับตัวเดิม ใช้ชีวิตด้วยกันจนตายจากกันไป และด้วยระบบนิเวศป่าเสื่อมโทรมลง ทำให้นกเงือกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อใช้โอกาสเดือนแห่งความรักนี้ ให้ผู้คนระลึกถึงความสำคัญและภัยคุกคามต่อการคงอยู่ของนกเงือก อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักแท้และรักเดียวใจเดียว   

ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เคยอธิบายให้พวกเราฟังว่า นกเงือกมีบทบาทสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศในป่าดิบเขตร้อน ที่เด่นชัดคือการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ด พันธุ์ไม้ และช่วยควบคุมประชากรสัตว์เล็กในฐานะผู้ล่า แต่จำนวนนกเงือกกลับลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากเมื่อพวกมันมีลูกอ่อน แม่และลูกจะอาศัยอยู่ในโพรงไม้และฝากชีวิตไว้กับพ่อนกที่มีหน้าที่หาอาหารมาให้ หากพ่อนกเงือกถูกล่า แม่นกกับลูกในโพรงไม้ก็จะตายลงเช่นกัน  

ประเทศไทยเรามีนกเงือก 13 ชนิด โดยนกเงือก 3 ชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์อย่างยิ่ง ได้แก่ นกเงือกดำ นกเงือกปากย่น และนกชนหิน สำหรับ “นกชนหิน” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของประเทศไทย จัดเป็นนกสายพันธุ์โบราณ มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นต่างจากนกเงือกชนิดอื่น คือมีโหนกตันคล้ายงาช้าง ทำให้มีความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความร่ำรวย มั่งคั่ง จึงกลายเป็นที่ต้องการของนักสะสมของหายาก และถูกไล่ล่าจนเกือบสูญพันธุ์ อีกทั้งมีภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือก ทำให้ประชากรนกเงือกมีแนวโน้มลดลงจนน่าเป็นห่วง

TEI ได้มีส่วนร่วมในผลักดันและสนับสนุนการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมบทบาทชุมชนและภาคีท้องถิ่นในการจัดการป่า ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่า เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ และให้บริการระบบนิเวศนานัปการ และเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน จึงขอเชิญชวนพวกเราที่ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาช่วยกันดูแลป่าไม้อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย มอบความรักและเฝ้าระวังนกเงือกให้รอดพ้นจากการล่าและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย  


เรียบเรียงโดย: ณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งข้อมูล: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ