16 September - World Ozone Day (In Thai)

Thematic Areas: Climate Mitigation

โอโซน (Ozone หรือ O3) เป็นก๊าซสีฟ้าที่พบในชั้นบรรยากาศสตาร์โทสเฟียสทำให้สามารถช่วยกรองรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ที่แผ่มายังโลก โอโซนสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติจากปฏิกิริยากระแสไฟฟ้าแรงสูงในอากาศ เช่น ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ปฏิกิริยาของออกซิเจนในอากาศกับแสงอาทิตย์ เป็นต้น ส่วนโอโซนที่มนุษย์สร้างขึ้นเกิดจากการใช้รังสียูวีหรือการสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงให้แก่ก๊าซออกซิเจน

จากปฏิกิริยาออกซิเดชันของโอโซนที่เกิดขึ้นกับสารรอบตัวเกือบทุกชนิด โดยจะแตกตัวให้อะตอมออกซิเจน O) ทำให้โอโซนเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องกรองน้ำ เป็นต้น แต่หากโอโซนมีการจับตัวกับสารซีเอฟซี (CFCs) ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นโอโซน (Ozone Depleting Substance, ODS) จะแตกตัวให้อะตอมคลอรีน (Cl) ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับโอโซนได้เป็นก๊าซออกซิเจน (O2) และคลอรีนโมโนออกไซด์ (ClO) โมเลกุลนี้จะสามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นอะตอมคลอรีน (Cl) และวนกลับมาทำลายโอโซนเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain reaction) เมื่อโอโซนในชั้นบรรยากาศถูกทำลายมากขึ้นจนกลายเป็นช่องโหว่โอโซน (Ozone hole) ทำให้รังสียูวีจากแสงอาทิตย์แผ่มายังโลกได้โดยตรง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ และพืช

ในปี ค.ศ. 1985 นานาประเทศจึงได้ร่วมจัดทำอนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน เพื่อฟื้นฟูและรักษาโอโซนในชั้นบรรยากาศให้กลับคืนมาสู่ภาวะปกติภายในปี ค.ศ. 2070 และเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1897 ได้มีการลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก ลดและเลิกการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ปัจจุบันมีประเทศที่ลงนามและร่วมให้สัตยาบันกว่า 191 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 16 กันยายนของทุกปีเป็นวันโอโซนโลก

​เราทุกคนสามารถช่วยปกป้อง ฟื้นฟูและรักษาโอโซน โดยการลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนทำลายชั้นโอโซน เพียงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกและเพื่อเรา #save world


เรียบเรียงโดย เสาวนีย์ บุญเชียงมา นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ข้อมูลอ้างอิง : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.)