29 กรกฎาคม - International Tiger Day (In Thai)

Thematic Areas: Land Resources

วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (International Tiger Day)

“วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” ถูกกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่ง เมื่อปี 2553 ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยกลุ่มประเทศที่มีการกระจายของเสือโคร่งเพื่อให้นานาประเทศเห็นความสำคัญของเสือในระบบนิเวศ และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ ปกป้อง และคุ้มครองที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง
เสือโคร่ง (Panthera tigris) นับว่าเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นผู้ล่าอันดับสูงสุด ทำหน้าที่ควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อไม่ให้มีมากเกินไป หากเสือโคร่งลดลงหรือไม่มีเลยจะทำให้จำนวนประชากรสัตว์กินพืชเพิ่มมากขึ้น หากมีจำนวนมากเกินไปจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ที่อาจทำให้ระบบนิเวศถูกทำลายในที่สุด ซึ่งจำนวนเสือโคร่งจะเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่ยังพบเสือโคร่งได้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ แต่มีจำนวนลดลงอย่างมากจากอดีตที่พบกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยการศึกษาการแพร่กระจายของเสือโคร่งเมื่อปี 2553 พบว่า มีเสือโคร่งกระจายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และมีจำนวนเสือโคร่งประมาณ 190-250 ตัว ซึ่งพื้นที่ที่มีเสือโคร่งหนาแน่นมากที่สุด คือ กลุ่มป่าตะวันตก ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งซึ่งจากการสำรวจในปี 2565 มีจำนวนประมาณ 100 ตัว

อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามที่สำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรเสือโคร่งทั่วโลกยังคงเป็นการล่าเพื่อการค้า การครอบครอง และค่านิยมความเชื่อที่ผิดจากการบริโภค หรือยาที่ทำจากชิ้นส่วนเสือโคร่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ทำให้เสือโคร่งถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ซึ่งการป้องกันไม่ให้เสือโคร่งสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย จึงต้องร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องพื้นที่ป่าให้อุดมสมบูรณ์ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์เสือโคร่งและทรัพยากรสัตว์ป่า และส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป


แหล่งข้อมูล
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2566). สถานการณ์และสถิติสัตว์ป่าที่สำคัญและเป็นที่สนใจ. เอกสารอัดสำเนา.
บุษบง กาญจนสาขา, สมหญิง ทัฬหิกรณ์, ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์, อัมพรพิมล ประยูร, และกมล แฝงบุบผา. (2553). สถานภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในประเทศไทย. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพมหานคร.