8 May - World Ocean Day (In Thai)

Project: Preparation of National State of the Oceans and Coasts Report for Thailand

Thematic Areas: Marine and Coastal Resources

World Ocean Day
Planet Ocean: Tides are Changing “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม”

ปี 2023 นี้ สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ได้กำหนดหัวข้อ คือ Planet Ocean: Tides are Changing “เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม” เพื่อเฉลิมฉลองและปลุกจิตสำนึกของผู้คนทั่วโลก ให้ความสำคัญกับบทบาทของทะเลและมหาสมุทรที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเลและมหาสมุทร

ทะเลและมหาสมุทรมีพื้นที่กว่า 2 ใน 3 ของผิวโลก เป็นระบบนิเวศที่เป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ และเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจสูง ทั้งด้านการประมง การขนส่งสินค้า การขุดเจาะแหล่งพลังงาน รวมถึงการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศ

แต่ปัจจุบันทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมนุษย์ ทั้งจากการทำการประมงเกินขนาด น้ำมันรั่วไหล เรือล่มกลางทะเลและของเสียจากเรือเดินทะเล การท่องเที่ยวแบบไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของขยะทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มากกว่าร้อยละ 80 เป็นขยะที่เกิดขึ้นบนฝั่งที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ทำให้ถูกพัดพาลงสู่ทะเลและมหาสมุทรผ่านทางแม่น้ำสายต่าง ๆ

ซึ่งปี 2564 ประเทศไทยพบขยะลอยน้ำที่ไหลออกจากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนบนมากกว่า 84 ล้านชิ้น ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 738 ตัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแผ่นบาง ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลแล้วยังแตกสลายเป็นไมโครพลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และปนเปื้อนในอาหารทะเลที่มนุษย์เรานำมาบริโภคอีกด้วย

ด้านสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(IUCN) และองค์กรความร่วมมือเพื่อพัฒนานานาชาติประเทศสวีเดน(SIDA) ได้ศึกษากรณีตัวอย่างและสถานการณ์การจัดการขยะบนพื้นที่เกาะในประเทศไทย 12 เกาะ รวมถึงศึกษากรณีตัวอย่างเกาะในต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี สู่การผลักดันให้เกิดการจัดการขยะในพื้นที่เกาะมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการจัดการขยะตามหลัก 3Rs ด้วยการหาทางลดปริมาณขยะ (Reduce) เพิ่มการใช้ซ้ำ (Reuse) มีระบบการคัดแยกขยะ รวบรวม และเก็บขยะรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพให้เข้าสู้กระบวนการรีไซเคิล (Recycle) หรือนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากที่สุด ส่วนขยะที่ไม่คุ้มค่าในการรีไซเคิลก็จะรวบรวมและขนส่งไปกำจัดพร้อมการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อนำไปสู่การปกป้องระบบนิเวศที่เปราะบางของเกาะ ลดจำนวนขยะที่หลุดรอดลงสู่ทะเลและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเล

ยังไม่สายเกินไปที่พวกเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมลดการสร้างขยะ ร่วมกันแยกขยะเพื่อนำไปสู่การรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด ก่อนนำไปทิ้งและกำจัดอย่างถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะสามารถพลิกฟื้น คืนโลกสีครามที่สวยงาม ส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป


อ่านเพิ่มเติมกรณีตัวอย่าง 12 เกาะ 12 แนวปฏิบัติในการจัดการขยะ ได้ที่ www.tei.or.th/th/publication_free.php
เรียบเรียงโดย ธนิรัตน์ ธนวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ข้อมูลจาก: https://unworldoceansday.org/
รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565