TEI ร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ ฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาตะแบก “ปลูกต้นไม้ สร้างป่าชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งกักเก็บคาร์บอนอย่างยั่งยืน (In Thai)

27 กันยายน 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ภายใต้โครงการ KKP Tree and Sea จัดกิจกรรมฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาตะแบก “KKP Volun Team - อาสาสมัครรักษ์สิ่งแวดล้อม” ปลูกต้นไม้ สร้างป่าชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งกักเก็บคาร์บอนอย่างยั่งยืน ณ ป่าชุมชนบ้านเขาตะแบก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจากนายอำเภอศรีราชา นายนพรัตน์ ศรีพรหม และปลัดอาวุโสอำเภอศรีราชา นางสาวนริศรา ทิพยางกูร รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 (ชลบุรี) สถานีตำรวจภูธรหนองขาม  สำนักงานเกษตรอำเภอศรีราชา โรงเรียนบ้านเขาตะแบก และชุมชนบ้านเขาตะแบก ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม 

ป่าชุมชนบ้านเขาตะแบก มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ ซึ่งเคยเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ได้รับการฟื้นฟู และขึ้นทะเบียนป่าชุมชน กรมป่าไม้ ปี 2563 ปัจจุบันกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งต้นไม้พื้นถิ่นหลากหลายชนิด เช่น ต้นสัก ต้นมะค่า ต้นพะยูง ต้นตะแบก ต้นงิ้ว รวมถึงพืชผักป่าต่าง ๆ เช่น ผักหวาน พริกขี้หนู เห็ด หน่อไม้ และสมุนไพรต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สีเขียวสำคัญ ท่ามกลางการรายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี

การจัดกระบวนการเรียนรู้ของ TEI ครั้งนี้ นำโดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ที่ปรึกษา และคุณวิลาวรรณ น้อยภา ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง คุณพวงผกา ขาวกระโทก และนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมด้วยอาสาสมัครรักษ์สิ่งแวดล้อม KKP นักเรียนและคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านเขาตะแบก มากกว่า 200 คน ร่วมกันปลูกต้นไม้หายากและสำคัญในพื้นที่ เช่น ต้นตะแบก ต้นพะยูง และต้นมะขามป้อม กว่า 600 ต้น พร้อมทั้งสร้างเรือนเพาะชำสำหรับเพาะพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ กำหนดฐานเรียนรู้ตลอดเส้นทาง 10 ฐานเรียนรู้ ได้แก่ 1. ฐานต้นตะแบกยักษ์ 2. ฐานบันไดลิง 3. ฐานลานขนุนยักษ์และกล้วยป่า 4. ฐานพืชผักสวนครัวในป่า 5. ฐานเนินรับแขก 6. ฐานแนวกันไฟ 7. ฐานซุ้มไผ่ 8. ฐานงิ้วป่า 9. ฐานเนินผักหวาน และ 10. ฐานลานชมวิว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนและเยาวชนในอนาคต

ทั้งนี้ กิจกรรมปลูกต้นไม้ในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น โรงเรียน และหน่วยงาน ร่วมกันปกป้องและดูแลป่าอย่างยั่งยืน ไม่ได้ปลูกเพียงเพื่อเป็นกิจกรรม แต่เป็นการปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า รักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ใส่ใจตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ไม้ พร้อมกำหนดกลไกชุมชนคอยดูแลให้ต้นไม้เติบโต และสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ร่วมติดตามการเจริญเติบโต มองคุณค่าและมูลค่าการใช้ประโยชน์ร่วมของชุมชนระยะไกล ผ่านกระบวนการ ปลูก - ดูแล - ติดตาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและดูแลป่าอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวต่อไป