บริษัทชั้นนำของไทยคิดอย่างไร กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ? (In Thai)

การประชุมเรื่องบทบาทของภาคเอกชนกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECM)  ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) องค์การธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำเข้าร่วมเกือบ 20 องค์กร

การประชุมนี้ ได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ OECM ที่มาจากคำว่า Other Effective Conservation Measures ซึ่งถูกประกาศเป็นวาระของประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น  และการจัดการร่วมของภาคส่วนเหล่านี้

คุณเบญจมาส โชติทอง จาก TEI ซึ่งได้ร่วมจัดการประชุม สรุปให้เห็นภาพว่าบริษัทที่เข้าร่วมการประชุม ส่วนใหญ่มีการดำเนินงานด้านอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมาแล้ว ซึ่งระบุว่าเกิดจากการที่องค์กรมีนโยบายชัดเจน  แม้บางบริษัทยังกังวลว่าจะต้องลงทุนเพิ่ม ทำแล้วเห็นผลช้า จะวัดผลได้อย่างไร และยังไม่มีมาตรฐานหรือระบบรับรองในเรื่องนี้

ส่วนคำถามในทำนองที่ว่าทำแล้วได้อะไร สำหรับบริษัทเหล่านี้เขาเห็นโอกาสจากการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดี ช่วยสร้างโอกาสในตลาดใหม่ที่จะต้องกรีน มีบางบริษัทที่พอทำไปแล้วก็เกิดความภาคภูมิใจ อีกยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรและกับชุมชนโดยรอบ 

สุดท้าย มีความเห็นว่าหากมีระบบข้อมูลระดับพื้นที่ และมีการจัดทำ "แนวทางในการจัดการพื้นที่ ให้ตอบโจทย์ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอน" ก็จะทำให้ภาคเอกชนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น !!!