“จังหวัดน่าน” กับ “การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล”

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำโดยคุณจินดารัตน์ เรืองโชติวิทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาศักยภาพบุคลากรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดย คุณเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน  คุณพวงผกา ขาวกระโทก ผู้จัดการโครงการ และนักวิจัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล" วันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมดิ อิมเพรส น่าน จ.น่าน และระบบออนไลน์  โดยได้รับเกียรติจากนายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเปิดการอบรม

สาระสำคัญการอบรม คุณสิทธิชัย สว่างจิตต์อพท. นำเสนอการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล และโอกาสของประเทศ โดยนักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวที่สามารถลดคาร์บอนได้และยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อเป็นการชดเชยคาร์บอน   คุณพวงพันธ์ ศรีทอง  อบก. นำเสนอ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย (Carbon Neutrality) ในปี 2030 และหลักการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการท่องเที่ยว และโปรแกรม “Carbon Zero” application ที่ใช้ในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยว 

สำหรับการเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างการท่องเที่ยวคาร์บอนนิวทรัล โดยคุณฤกษ์ เชาวนะกวี  TEATA กล่าวถึงการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชน และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์จากชุมชนท่องเที่ยวแบบทั่วไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ รูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนแบบใหม่ๆ ของบ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี  โดยคุณสุเทพ พิมพ์ศิริ เล่าว่า...ถ้ำเสือเริ่มจากจัดการทรัพยากรโดยชุมชน จัดกิจกรรม รองรับผู้ที่มาศึกษาดูงานขยายสู่การท่องเที่ยวด้วยบทบาทคน 3 รุ่น ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่าที่คิด และบ้านบางโรง จังหวัดภูเก็ต คุณประเสริฐ ฤทธิ์รักษา เล่าว่า...การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัลเป็นเรื่องที่ชุมชนท่องเที่ยวต้องเรียนรู้ เพื่อพร้อมปรับตัวเปิดรับตลาดใหม่ โดยมีกลไกของผู้นำและคนรุ่นใหม่เป็นปัจจัยความสำเร็จของบ้านบางโรง

กิจกรรมกลุ่มย่อยออกแบบการท่องเที่ยวจังหวัดน่านสู่การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล ได้รับเกียรติจาก DCCE TGO TEATA  TEI และคุณณัฐวุฒิ แจ้งกระจ่าง อพท. น่าน เป็นวิทยากรกลุ่มย่อย  โดยผู้เข้าร่วมได้ออกแบบการท่องเที่ยวน่านโดยใช้แนวคิด "ปรับ-ลด-ชดเชย" สนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมการท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การเดินทาง การเลือกที่พักและกิจกรรม อาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึก และการจัดการของเสีย และทดลองประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดการท่องเที่ยวจากสถานการณ์จำลองผ่านแอพพลิเคชั่น Zero Carbon ตลอดจนวิเคราะห์กลไก ข้อมูล เทคโนโลยี งบประมาณ และภาคีที่จะสนับสนุนสู่การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล ของจังหวัดน่านและประเทศต่อไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืน