ที่ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ร่วมรับฟังการสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจัดการขยะมูลฝอยและพลาสติกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ของประเทศไทย กรณีศึกษาพื้นที่เกาะลันตา พร้อมหารือประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดกระบี่ โดยมี ดร.พิริยุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาโครงการ พร้อมด้วย นักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, นายสาโรจน์ ไชยมาตร ท้องถิ่นจังหวัดกระบี่, พ.ต.อ.สมเด็จ สุขการ นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่, นางณัฐธยาน์ ผาสุข นายอำเภอเกาะลันตา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ดำเนินโครงการการพัฒนาโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจัดการขยะมูลฝอยและพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เกาะของประเทศไทย กรณีศึกษาพื้นที่เกาะลันตา ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากอำเภอเกาะลันตา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 6 แห่ง ชุมชน สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการร่วมกันบริหารจัดการ เกิดรูปแบบและแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะมูลฝอยต้นทาง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยกำจัดยังหลุมฝังกลบอันมีส่วนช่วยลดงบประมาณของท้องถิ่น
โดยเกาะลันตาได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และกลุ่ม PPP Plastics ได้พัฒนาฐานข้อมูลและจัดการองค์ความรู้ด้วยการสำรวจองค์ประกอบขยะ รวบรวม และวิเคราะห์ปริมาณและมูลค่าพลาสติก ทำให้พบว่าขยะเกิดขึ้นในพื้นที่เกาะลันตามีประมาณ 40 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่ยังมีราคาและสามารถดึงกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ แต่ยังขาดการจัดการ ส่วนขยะอินทรีย์ ยังไม่ถูกจัดการและนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการจัดการขยะพลาสติกและขยะอินทรีย์ควบคู่กันไป ได้มีการขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติก ด้วยการส่งเสริมการจัดการต้นทางตั้งแต่ครัวเรือน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกลางทาง โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดเวลาและวันเก็บ วันทิ้งขยะรีไซเคิล รวบรวมส่งต่อกลุ่มลันตารีไซเคิลและขยะเป็นพิษรวบรวมส่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ สนับสนุนการจัดการปลายทาง มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การจัดการพลาสติกอำเภอเกาะลันตา หรือ Lanta Plas Center เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์พลาสติกได้อย่างเต็มวงจรชีวิต เพิ่มการหมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ลดขยะกำจัดปลายทาง และสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพและกลไกชุมชน ทั้งผู้นำและผู้แทนชุมชน ขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่องในอนาคต พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เกาะลันตา โดยมีนายอำเภอเกาะลันตาเป็นแกนนำ ประสานและเสนอนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยในระดับจังหวัด ให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่การจัดการต้นทางสู่ปลายทางอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
จากนั้น ได้มีการหารือประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของทางจังหวัดกระบี่ อาทิ สถานีขนถ่ายและระบบการขนส่ง การศึกษาความเหมาะสม ช่องทางขอรับงบประมาณอุดหนุนการควบรวมบริหารจัดการและสัญญาการดำเนินงานของระบบโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่เดิม อันจะเป็นการผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคีของพื้นที่เกาะลันตาและจังหวัดกระบี่ต่อไป
Share: