จ.เชียงราย และภาคีเครือข่าย ผลักดันการทำงานเชิงรุก ลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน (In Thai)

29 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการร่วมแถลงข่าวโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน และจังหวัดเชียงราย จัดงานแถลงข่าวเชียงรายพื้นที่ปฏิบัติจัดการและลดหมอกควันข้ามแดนขับเคลื่อนความร่วมมือ ไทย-ลาว-เมียนมา ร่วมกับองค์กรภาคี เพื่อประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของภาคีเกี่ยวข้อง หวังผลักตันการทำงานเชิงรุกทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยมี ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ ผอ.สบอ.15 ร่วมในการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมทอแสง โรงแรมคงการเด้นท์วิวรีสอร์ท จ.เชียงราย

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวว่าจังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นประจำทุกปี ซึ่งพบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด โดยเฉพาะเมื่อช่วงต้นปี 2566 มีความรุนแรงมากกว่าทุกปี บางพื้นที่พบระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM25 มากกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีแนวพรมแดนติดต่อทั้งลาวและเมียนมา เราตระหนักดีว่าการแก้ปัญหาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน มีความท้าทายและหวังผลได้ไม่ง่าย แต่ภาคีและกลไกความร่วมมือจะมีบทบาทสำคัญในการขยายแนวปฏิบัติลดการเผา เชียงรายพร้อมผนึกกำลังและสนับสนุน อย่างเต็มกำลังให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้กล่าวเสริมว่าสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะองค์กรดำเนินงานโครงการพัฒนาความร่วมมือ ไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดนหลัก ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ และสถาบันพัฒนาและวิจัยพื้นที่สูง มีความมุ่งหวังให้เกิดการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนพร้อมนำองค์ความรู้และประสบการณ์มาปรับและบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาหมอกควันให้เกิดผลรูปธรรมเพื่อประโยชน์การลดมลพิษโดยรวมของประชาชนทั้งสามประเทศ

น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวว่ากรมควบคุมมลพิษ หรือ คพ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการนำเสนอนโยบายการจัดการมลพิษของประเทศ และภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) คพ. จะเป็นหน่วยงานประสานกลางระหว่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อนกลไกทั้งในระดับนโยบายของประเทศและผลักดันนโยบายมลพิษข้ามแดน จะเป็นหน่วยงานประสานกลางระหว่างประเทศให้เกิดการดำเนินการต่อยอดจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ผ่านมา ให้เกิดการทำงานเชิงรุกทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ปฏิบัติการลดการเผาในพื้นที่เป้าหมาย ไทย ลาว เมียนมา และเสริมสร้างศักยภาพประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศและการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนต่อไป

ADVERTISEMENT

ชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงนพัฒนาการวิจัยการกษตร กล่าวเน้นย้ำว่า โครงการร่วมมือไทย ลาว เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน เป็นหนึ่งใน 5 ชุดโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของ สวก. ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนตามแผนงานวิจัยเร่งด่วนของ สกสว. เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จากงานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” โดยประเทศไทยได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ดีด้านการลดการเผา รวมถึงระบบเกษตรไม่เผาไปขยายผลต่อให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้นำปฏิบัติในพื้นที่ของประเทศลาวและเมียนมาให้เกิดความยั่งยืนและลดหมอกควันข้ามแดน

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สวพส. จักได้ดำเนินงานและยกระดับพื้นที่ในอำเภอแม่สรวยและเวียงแก่น จ.เชียงราย ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรเพื่อการแก้ไขปัญหาการเผาอย่างบูรณาการ ตลอดจนการจัดการเศษวัสดุการเกษตรเพิ่มมูลค่า เพื่อให้ชุมชนตัวอย่างลดการเผาและหมอกควันข้ามแดนสู่การขยายผลในพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป

นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 กล่าวว่าภารกิจของกรมฯ จะมีส่วนดำเนินการและร่วมการแไขปัญหาหมอกควันภายในประเทศและหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเผาไหม้ซ้ำซากสูง รวมถึงการบูรณาการขับเคลื่อนความร่วมมือสู่เป้าหมายการลดพื้นที่เผาไหม้ 50% หนึ่งในสาเหตุของปัญหาหมอกควันข้ามแดนร่วมกับจังหวัดเชียงรายและภาคีความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวเสริมตอนท้ายว่า การดำเนินการโครงการฯ นี้มีความท้าทายหลายประการ เพราะปัญหาการเกิดไฟทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงโดยตรงกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การมีและบังคับใช้กฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขีดความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการผลักดันให้เกิดการทำงานข้ามพรมแดนในพื้นที่นำร่องในประเทศลาวและเมียนมาให้เกิดผลเชิงประจักษ์ได้ไม่ง่ายนัก ในการลดการเผาหรือปรับเปลี่ยนระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการลดสาเหตุของการเกิดหมอกควันข้ามแดน แต่ด้วยความร่วมมือและตอบรับที่ดีจากภาคีต่างๆ ที่ผ่านมา จะเป็นพลังสำคัญให้เกิดการผลักดันการจัดการลดและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกันได้ในโอกาสต่อไป
 





















ที่มา Chiangmainews