ผู้ประกอบการไทยเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยสู่ความยั่งยืน (In Thai)

กรุงเทพฯ –  29 มิถุนายน 2566:  องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมัน (RSPO) ร่วมกับ เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance: TSPOA) จัดเสวนาปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทยครั้งแรก  ภายใต้แนวคิด “เส้นทางสู่การยกระดับปาล์มน้ำมันยั่งยืนเป็นบรรทัดฐานในประเทศไทย” โดยมีผู้นำภาคธุรกิจ ภาคนโยบาย สมาชิกของ RSPO ทั้งตัวแทนผู้ปลูก โรงสกัด โรงกลั่น ผู้ผลิตแปรรูป ผู้ค้าส่งออก องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการเข้าร่วมงานกว่า 100 คน เพื่อร่วมกันแสดงความมุ่งมั่นของภาคีผู้เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่คุณค่าต่อการยกระดับระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยสู่ความยั่งยืน โดยเพิ่มจำนวนน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล RSPO มากขึ้น พร้อมผลักดันตลาดปาล์มน้ำมันไทยสู่วิถีความยั่งยืนในเวทีโลก ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก จี

 

ดร.อิงเค่อ วาน เดอ สลุยจิส

ดร.อิงเค่อ วาน เดอ สลุยจิส ผู้อำนวยการ Market Transformation ของ RSPO กล่าวว่าประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ผลิตและบริโภคปาล์มน้ำมันหลัก 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งมีโอกาสในการยกระดับและเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันให้ก้าวสู่มาตรฐานที่ยั่งยืนได้มาก ไม่เพียงเฉพาะแค่ระดับประเทศ แต่ยังสามารถพัฒนาถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก

ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2566 RSPO ในประเทศไทยมีสมาชิกผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ จำนวน 84 กลุ่ม โดยกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน RSPO มีจำนวน 21 กลุ่ม 6,814 คน มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรอง 265,377.56 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.36 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดของประเทศไทย และอยู่ระหว่างการตรวจรับรองอีก 60 กลุ่ม 2,955 คน 67,782.00 ไร่ ซึ่งคาดว่าภายในปลายปี พ.ศ.2566 ประเทศไทย จะมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจาก RSPO จำนวน 333,159.56  ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.48 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีสมาชิก RSPO ที่เป็นผู้ผลิตกลางน้ำ ผู้ผลิตสินค้าบริโภค (Consumer Goods Manufactures) อีก 11 บริษัท ผู้ค้า ผู้ผลิตแปรรูป (Processors and Traders) 33 บริษัท ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันปาล์มรายย่อย (Supply Chain Associated) 40 บริษัทและบริษัทเกี่ยวข้องอีก 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 169 แห่ง

“ดังนั้น การมีเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย จะเป็นการส่งเสริมฐานกำลังให้แข็งแกร่งต่อการผลักดันทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพของทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น และ RSPO ตระหนักดีว่าภาคีความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการขยายตลาดปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน ให้เป็นบรรทัดฐานของประเทศไทยสู่เวทีโลก พร้อมมีความยินดียิ่งต่อการผนึกกำลังของกลุ่มบุคคลและรวมเป็นเครือข่ายเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย และพร้อมร่วมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังให้บรรลุเป้าหมายหลักของ RSPO ไปด้วยกัน” ดร.อิงเค่อ วาน เดอ สลุยจิส กล่าว

อัสนี มาลัมพุช
อัสนี มาลัมพุช  (ที่2จากซ้าย) ประธานเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ส.อ.ท.

อัสนี มาลัมพุช ประธานเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ซึ่งถือเป็นประธานเครือข่ายฯ คนแรก  กล่าวว่า เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย หรือ Thailand Alliance for Sustainable Palm Oil (TASPO) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 จากการรวมตัวขององค์กรภาคีผู้ก่อตั้งหลัก จาก 5 องค์กร ซึ่งเป็นผู้แทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันของประเทศ ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์ม สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล และสมาคมการค้าผู้ผลิตโอลิโอเคมี โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมบทบาทการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันนโยบายและกำหนดมาตรฐานการผลิตการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนของประเทศไทยสู่เวทีโลก

เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมทำงานและขับเคลื่อนไปกับองค์กรสมาชิก เพื่อสานต่อเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของภาคีผู้เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่คุณค่าต่อการยกระดับด้านมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน การผลักดันตลาดปาล์มน้ำมันสู่วิถีความยั่งยืนในเวทีโลกได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถสร้างให้เกิดขึ้นเองได้ นอกจากนั้น กลุ่มตลาดผู้บริโภคก็มีเป้าหมายที่ชัดเจต่อเป้าหมายการดำเนินธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น บริษัทชั้นนำของโลกกำลังต้องการที่ใช้ “ปาล์มน้ำมันยั่งยืน” เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม่ทำลายป่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งลดความยากจน ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กนป.) เลขานุการเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงความสำคัญของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มว่า ถือเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคและบริโภค ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม จึงเป็นวัตถุดิบขั้นต้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย  ในส่วนของประเทศไทยก็ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนในตลาดโลกไม่มากนัก ที่ผ่านมาส่งออกและได้การรับรองมาตรฐานยังดำเนินได้ส่วนน้อย ส่วนใหญ่มุ่งใช้บริโภคภายในประเทศ

“การรวมตัวกันของภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายฯ นี้ จะเป็นพลังความร่วมมือในการส่งเสริมและเพิ่มความมั่นใจในการผลิตปาล์มน้ำมันและเพิ่มมูลค่าผลผลิต เป็นที่ยอมรับของสากล ให้เกิดการขับเคลื่อนและการปฏิบัติร่วมกันทั้งระบบ โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้และความตระหนักในการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน บริโภคสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเทียบกับมาตรฐานสากลต่อไป” ดร.วิจารย์ กล่าว

เวทีเสวนา การยกระดับ – รับมือต่อตลาดโลกของผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มยั่งยืนของไทย

ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาใหัวข้อ “การยกระดับ – รับมือต่อตลาดโลกของผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มยั่งยืนของไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย กฤษฎา ประเสริฐสุขโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)  อรพรรณ มั่งมีศรี ผู้อำนวยการสำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด  (มหาชน)  ศาณินทร  ตริยานนท์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัดชุติมา พรรณธา ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง บริษัท ไทย กูลิโกะ จำกัด  ดำเนินรายการ โดยนันทินี รายละเอียด ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS

สำหรับความร่วมมือการจัดเสวนาฯ ของภาคีครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทย ภายใต้เจตนารมณ์และการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance: TSPOA) และองค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil : RSPO) ที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในด้านการค้าและบริโภคที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่มาตรฐานสากลและวิถีแห่งความยั่งยืนต่อไป


ที่มา Green Network