หมอกควันข้ามแดน ไทย ลาว เมียนมา ความร่วมมือขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อลมหายใจเดียวกัน (In Thai)

เมื่อหมอกควันไม่ได้รู้จักคำว่า "พรมแดน" ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง การเผาป่า และกิจกรรมทางเกษตรที่ขาดการควบคุม ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่พัดพามาสู่ประเทศไทย ลาว และเมียนมา พร้อมผลกระทบที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

หมอกควัน: ปัญหาที่ลอยข้ามพรมแดน

หมอกควัน หรือ Haze คือกลุ่มของอนุภาคขนาดเล็ก เช่น ฝุ่นละออง ควัน และก๊าซพิษที่ลอยตัวในอากาศสะสมจนปกคลุมพื้นที่กว้าง เกิดขึ้นมากในฤดูแล้งระหว่างกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียมเผยให้เห็นว่ามี      "จุดความร้อน" (Hotspots) เพิ่มขึ้นอย่างหนาแน่นในหลายพื้นที่ของภูมิภาค โดยเฉพาะจากกิจกรรมเผาในที่โล่ง   การเผาป่าผิดกฎหมาย และการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ไม่ยั่งยืน ปัญหานี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งต่อสุขภาพประชาชน ระบบทางเดินหายใจ ภาวะหัวใจ และแม้กระทั่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภัยซ้ำซ้อน: ผลกระทบต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

หมอกควัน ส่งผลกระทบมากกว่าด้านสุขภาพ มันยังทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การเผาป่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง CO2 และมีเทน เพิ่มความรุนแรงของวิกฤติภูมิอากาศ ทำให้ดินเสื่อมโทรม สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และกระทบต่อการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อไทยขยับ ความร่วมมือก็เริ่มเดินหน้า

ไทยไม่ได้เป็นเพียงผู้รับผลกระทบ แต่ยังเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิด ด้วยบทบาทสำคัญ จึงเป็นผู้นำในการผลักดันความร่วมมือข้ามพรมแดนอย่างจริงจังระดับภูมิภาค ทั้งในกลุ่มอาเซียน ลุ่มน้ำโขง และความร่วมมือแบบไตรภาคีกับลาวและเมียนมา โดยในปี 2566 ประเทศไทยริเริ่มจัดทำ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” (CLEAR Sky Strategy) ร่วมกับผู้นำลาวและเมียนมา เพื่อสร้างระบบการจัดการปัญหาหมอกควันอย่างเป็นรูปธรรม

ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy): ความหวังของลมหายใจและอากาศที่บริสุทธิ์

แผนปฏิบัติการ “CLEAR Sky for All” ได้รับการออกแบบเพื่อให้เป็นมากกว่าเอกสาร และมุ่งหวังให้เป็นแนวทางปฏิบัติจริงที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยมี 5 แนวทางหลัก ได้แก่

  1. ยึดเป้าหมายลดจุดความร้อนตามแผนเชียงราย ปี 2017 – ใช้แผนที่มีอยู่แล้วให้เกิดผล พร้อมติดตามค่าฝุ่นอย่างต่อเนื่อง
  2. เสริมสร้างกลไกความร่วมมือระดับชายแดน – ระหว่างไทย-ลาว-เมียนมา เชื่อมโยง Focal Point ในแต่ละประเทศ ผ่านคณะกรรมการชายแดน
  3. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ไทย ผ่านการอบรมและ workshop สร้างต้นแบบให้ประเทศเพื่อนบ้าน
  4. พัฒนาเครือข่ายตรวจวัดคุณภาพอากาศ และระบบติดตามหมอกควันด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม
  5. ขยายผลนโยบายสู่การปฏิบัติจริง ทั้งในระดับภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคการศึกษา


เส้นทางข้างหน้า: ความท้าทายของปัญหาที่ซับซ้อน จึงต้องใช้เวลาและความร่วมมือ

แม้มีความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 3 ทศวรรษ แต่การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนยังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งความแตกต่างด้านนโยบาย ทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม และวิถีชีวิตเกษตรกรรมดั้งเดิมที่ยากจะเปลี่ยนแปลง ข้อตกลงระดับภูมิภาคที่ขาดพลังและสภาพบังคับกันได้ และมาตรการภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับการหารือ ไม่สามารถดำเนินการเชิงรุกได้  ไม่มีเครื่องมือกฎหมายเฉพาะเช่นสิงคโปร์ การเผาในที่โล่งยังคงเป็นวิถีชีวิตที่ยากจะเปลี่ยน การจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน จึงต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน การให้ความรู้ และแรงจูงใจที่เหมาะสมในระดับพื้นที่ที่เหมาะสม

เกือบ 2 ปี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI  ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และภาคีความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือ ไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดนให้เกิดการทำงาน ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ผ่านกลไกความร่วมมือภายในประเทศและระหว่างประเทศ กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมการมีคณะทำงานแผนปฏิบัติการร่วม CLEAR Sky (2024-2030) ของ 3 ประเทศ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันในระยะยาว
 

ทางออกที่ยั่งยืน เริ่มต้นจากความเข้าใจและร่วมแรงร่วมใจ

บทเรียนจากการทำงานทำให้เข้าใจปัญหาการจัดการหมอกควัน จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย แต่คือการสร้างระบบที่ยั่งยืน รัฐต้องจริงจังกับการส่งเสริมการเกษตรที่ไม่พึ่งการเผา การให้ความรู้ในพื้นที่ เสริมสร้างเครื่องมือสนับสนุน สำคัญ การผลักดันให้เกิดแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับนโยบาย และที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และเข้มแข็งมากเพียงพอ กาปฏิบัติถึงจะเดินต่อไปได้

แม้หมอกควันอาจไร้พรมแดน แต่ลมหายใจของเราทุกคนเชื่อมถึงกัน เพราะอากาศที่เราหายใจ ไม่มีพรมแดน ปัญหานี้จึงต้องแก้ไขด้วยหัวใจและความจริงใจที่ไม่มีพรมแดนเช่นกัน

Source: TEI

Compiled by:

Wilavan Noipa

Director of Natural Resources Program

Tags:
Related Article: