ชวนรู้จัก...บัวลอย
หากกล่าวถึง “บัวลอย” หลายคนอาจนึกถึงบัวที่สวยงามชนิดหนึ่งซึ่งลอยอยู่พ้นผิวน้ำ แต่บัวลอยที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นชื่อท้องถิ่นที่คนในแถบภาคเหนือใช้เรียก “ผักตบชวา” นั่นเอง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Eichhornia crassipes (Mart.) Solms)
อันที่จริงพืชชนิดนี้เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่มีแหล่งกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยมีบันทึกการนำเข้ามามาในประเทศไทยจากเกาะชวา กว่า 100 ปีมาแล้ว ได้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนกีดขวางลำน้ำ เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างกว้างขวาง จนถูกจัดว่าเป็น “พืชต่างถิ่นที่รุนราน” หรือ Invasive Alien Species ซึ่งส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อชนิดพันธุ์พื้นเมือง
บัวลอยหรือผักตบชวา ซึ่งเป็นพืชลอยน้ำที่สามารถกระจายไปตามกระแสน้ำ ทนอากาศได้ทั้งร้อนและเย็น จึงผ่านพ้นฤดูกาลต่าง ๆ มาได้ และยังอยู่ได้แทบทุกสภาพน้ำ แม้ในแหล่งน้ำเสียบางแห่งที่พืชน้ำอื่น ๆ มักจะตายลง ทำให้มันสามารถเจริญเติบโตในแม่น้ำลำคลองที่รับน้ำเสียจากชุมชนเมืองต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำในหลายด้าน โดยเฉพาะการขัดขวางการไหลของน้ำ ทำให้แหล่งน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำเกิดการตื้นเขินเร็วกว่าปกติ เพิ่มอัตราการคายระเหยของน้ำ อีกทั้งผักตบชวาที่เติบโตอย่างหนาแน่น ได้ทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปลาและแพลงก์ตอนพืชที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของศัตรูพืช
บัวลอยเป็นภัยร้ายต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ
กรณีบึงสำคัญๆ หลายแห่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ไปทำการสำรวจในช่วงต้นปี 2568 พบว่า มีการแพร่กระจายของบัวลอยเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในเขตชุมชนหรือเขตเมือง อาทิ หนองแสนตอ ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่น ที่มีบัวลอยแพร่กระจายเต็มพื้นที่จนนักตกปลาต้องนำไม้ไผ่มากั้นพื้นที่บางส่วนเพื่อตกปลา
ขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ในอำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งเดียวในภาคเหนือที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites) พบว่าบัวลอยเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน ดังคำกล่าวของหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย
“ภัยคุกคามสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำหนองบงคายที่ต้องเร่งดำเนินการในอันดับแรกคือ การกำจัดผักตบชวาที่มีหนาแน่นในพื้นที่ ช่วงที่มีปริมาณน้ำมากจะลอยกระจายไปทั่วพื้นที่ บดบังแสงอาทิตย์ทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายและสัตว์น้ำ ซึ่งการกำจัดผักตบชวาให้หมดไปต้องใช้เครื่องจักรและงบประมาณจำนวนมาก”
เช่นเดียวกับสภาพหนองหลวง ในอำเภอเวียงชัย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่กว่า 9 พันไร่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ พบการแพร่กระจายของบัวลอยเต็มพื้นที่
ในหลายจุดโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่มีปริมาณน้ำน้อย ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในพื้นที่และการให้บริการแพนำเที่ยวของชุมชน ตามที่ผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวหนองหลวง เคยให้ข้อมูลไว้
“บัวลอยมีเยอะมาก ช่วงน้ำน้อยรากจะยึดติดกับดินจนกีดขวางการล่องแพจนไม่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมได้ ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยนำออกไปหลายครั้ง แต่ไม่นานก็กลับมาแน่นเหมือนเดิม”
ควบคุมการแพร่ระบาดของบัวลอย
จากการสืบค้นข้อมูลโดยนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) พบว่าได้มีความพยายามกำจัดบัวลอยหรือผักตบชวาในประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งทำได้เพียงการควบคุมเพื่อลดการแพร่ระบาดหรือขยายออกไปได้เองตามธรรมชาติ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี
- การกำจัดด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช เช่น คลอโรฟีนอคซี กลัยโฟเสต ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย แต่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- การกำจัดโดยวิธีกล เป็นการใช้แรงคน แรงสัตว์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักรต่าง ๆ เช่น การถก ลาก ดึง ตัก หรือยกผักตบชวาขึ้นจากแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและสะดวก ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แต่การปฏิบัติต้องใช้แรงงานมากและต้องมีอุปกรณ์อย่างพร้อมเพรียง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง
- การกำจัดทางชีววิธี เป็นการใช้สิ่งมีชีวิต เช่น แมลง โรคพืช ศัตรูอื่นที่เข้ามากัดกินหรือทำลายให้หมดสิ้นไป การกำจัดโดยวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากถ้ามีสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสม จึงเป็นข้อจำกัด
ในการนำมาใช้ในประเทศไทย
เราเองก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาจากการแพร่ระบาดของผักตบชวาได้ ดังนี้
- หมั่นขุดลอกคูคลองหรือท้องร่องให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก เนื่องจากผักตบชวาจะเจริญเติบโตได้ยากที่ที่มีน้ำไหลแรง
- ตรวจดูแลแหล่งน้ำบริเวณใกล้บ้านอยู่เสมอ หากพบเห็นก็ให้ดึงขึ้นจากน้ำและทำลายเสีย โดยการนำมาตากแห้งหรือเผาทำลาย
- การควบคุมและป้องกันการชะล้างปุ๋ยเคมีจากพื้นที่เกษตรกรรมลงสู่แหล่งน้ำ
- บำบัดน้ำเสียและน้ำชะล้างจากครัวเรือนก่อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อลดธาตุอาหารของพืชน้ำ
ส่วนการนำมาใช้ประโยชน์ ด้วยการนำไปเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ด เป็นวัสดุสำหรับเพาะชำกล้าไม้ หมักเป็นก๊าซชีวภาพ รวมถึงการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานในรูปแบบต่าง ๆ และวัสดุกันกระแทก ก็มีการทำอยู่เช่นกัน
“อย่างไรก็ตาม การกำจัดผักตบชวาแบบเบ็ดเสร็จให้หมดไปโดยสมบูรณ์นั้น สามารถทำได้ โดยต้องทำในช่วงที่การแพร่ระบาดของบัวลอยอยู่ในระยะเริ่มแรก มีจำนวนน้อย และอยู่ในบริเวณจำกัด”
ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองให้แหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและมนุษย์เราสร้างขึ้น ยังสามารถทำหน้าที่ของพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่รองรับน้ำในช่วงน้ำหลาก กักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง เป็นแหล่งที่อยู่ของพืชและสัตว์น้ำ ดำรงวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงเอื้อต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน
คำสำคัญ: #บัวลอย #ผักตบชวา #พื้นที่ชุ่มน้ำ
เรียบเรียงโดย ธนิรัตน์ ธนวัฒน์ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, กรมทรัพยากรน้ำ, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม), Medthai, และข้อมูลจากการสำรวจภายใต้โครงการ URBAN
Source: TEI
Share: