ฝุ่นตลบ (PM2.5)....ความรู้ ความเข้าใจ นโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหา (In Thai)
ประมาณช่วงกลางเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ประสบปัญหากับ PM2.5 ในระดับที่สูงมาก จนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย รวมทั้งเศรษฐกิจและสังคม หลายคนก็บ่นว่าปัญหานี้เกิดซ้ำ ๆ ทุกปี ไม่มีทางออกในการแก้ไขปัญหาหรืออย่างไร แม้กระทั่งถึงรัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ (ชาตินี้) แล้วก็ตาม ปัญหาก็ยังไม่ได้คลีคลายลง ก็มีการรายงานผลการตรวจวัด ค่า PM2.5 หลาย ๆ แหล่งทั้งจากในประเทศ เครื่องที่เป็นมาตรฐานราคาเป็นล้าน การวัดอย่างง่ายแบบพกพา ราคาไม่กี่ร้อย รวมทั้งการวัดจากหน่วยงานระหว่างประเทศหรือประเทศไทยเอง ก็มีหลาย ๆ หน่วยงานที่มีการวัดและการรายงาน ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ก็ไม่ว่ากัน แต่แนวโน้มก็ไปทางเดียวกัน การวัดค่า PM2.5 ถ้าจะเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง วัดทุกชั่วโมง แล้วเอามาเฉลี่ยกัน จะต้องไม่เกินกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (หน่วย)
พูดถึงค่ามาตรฐาน PM2.5 เดิมเรากำหนดให้ 50 หน่วย ทุกคนบอกเยอะไป และได้มีการประชุมก็ได้ปรับตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (ระดับที่สอง) ที่กำหนดอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์ผลกระทบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วิกฤตจึงเพิ่มขึ้นตามค่ามาตรฐานลดลง ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ค่ามาตรฐาน แต่อยู่ที่การนำมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ถูกนำไปใช้มากน้อยอย่างไร และการวางแผนระยะยาว
นักวิชาการหลายด้าน ก็ออกมาให้ความเห็นว่าฝุ่น PM2.5 มีมานานมากแล้ว แต่เรายังไม่ได้มีการตรวจวัด และเวลาตรวจวัดค่าก็เลยสูง ผลกระทบจึงไม่น่าห่วง อาจจะจริง บางส่วน แต่จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมาในลักษณะเดียวกันว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดผลกระทบเรื้อรัง และทางอายุขัยลดลงจากปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของ PM2.5 ระยะเวลาสัมผัสและลักษณะกลุ่มบุคคลบางคนเป็นโรคภูมิแพ้ ผู้สูงอายุหรือเด็ก อาจจะเกิดผลกระทบที่มากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การตรวจวัด PM2.5 จากหน่วยงานราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ควรติดตามผลเป็นทางการที่มีการรายงานระบบออนไลน์ ทั้งจากกทม. และกรมควบคุมมลพิษ ในขณะเดียวกัน บางหน่วยงานก็มีการคาดการณ์ในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ควรถูกนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจ เพื่อออกมาตรการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา เช่น กรณีการให้ใช้รถสาธารณะทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี ที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายไปกว่า 185 ล้านบาท ในขณะที่สภาพอากาศดีขึ้นบ้างแล้ว รถในท้องถนนก็ยังมากอยู่ ยกเว้นในวันหยุดช่วงตรุษจีน ประกอบกับสภาพอากาศปิดที่ทำให้ PM2.5 กระจายตัว และลดการสะสมความเข้มข้น PM2.5 ลดลง อยู่ในโซนสีเหลืองและสีส้ม ในระดับมาตรฐาน หรือเกินเล็กน้อยในพื้นที่ กทม. แต่ต้นสัปดาห์ต่อมาก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
การแก้ไขปัญหาระยะยาวต้องมีความชัดเจน หลายคนก็เชื่อว่า ถ้าหาก พรบ.อากาศสะอาด มีผลบังคับใช้ก็น่าจะดีขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้น การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งระบบนโยบาและระดับการปฏิบัติการในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า
การเข้าใจปัญหา PM2.5 เป็นเรื่องสำคัญทั้งแหล่งกำเนิด (ในพื้นที่และนอกพื้นที่) สภาพภูมิอากาศหรืออุตุนิยมวิทยา (ลม อากาศนิ่ง อุณหภูมิผกผัน) ซึ่งจะต้องติดตามวันต่อวัน และเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก สิ่งที่ควรจะทำ คือ การลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดทุกประเภท และต้องลดมากกว่าปกติ เพื่อรองรับการแปรปรวนสภาพภูมิอากาศ
ในภาพรวมของประเทศแหล่งกำเนิดที่มีผลกระทบครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ ประเทศไทย จากพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวและอ้อยในพื้นที่ราบ การปลูกข้าวโพดและปลูกข้าวไร่ ในพื้นที่สูงและเพื่อผลประโยชน์การหาของป่า (การบุกรุกพื้นที่ป่า ผักหวาน ล่าสัตว์) เป็นต้น พื้นที่หลายแห่งยังไม่ได้ถูกจัดการ เกษตรยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขณะนี้ก็มีนโยบายและกฎหมาย คทช. (การจัดที่ดินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวม) ซึ่งการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจึงก่อให้เกิด พื้นที่ที่จุดความร้อน (Hot Spot) สูงอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวน การแก้ไขที่ดินในพื้นที่สูงน่าจะเป็นทางออกสำคัญและเร่งด่วนให้กับหลาย ๆ พื้นที่ ดังกรณีที่ดำเนินการนำร่องในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จะขยายผลให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างไร ภาพถ่ายทางอากาศ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดรน จะเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการในพื้นที่ได้ การตลาดและการสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งที่เป็นจุดสำคัญ ที่รัฐควรสนับสนุนให้ครบวงจรและวางแผนล่วงหน้า
การจัดการอ้อยที่เผา ควรมีมาตรการที่เด็ดขาด และวางแผนให้ครบวงจร ตั้งแต่ระบบการปลูก เครื่องจักรกลทางการเกษตร และระบบโรงงานจะต้องจัดการให้ครบวงจรเป็นระบบ และเด็ดขาด ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ
การบริหารจัดการ PM2.5 โดยได้มีการศึกษาและวิจัยไว้หลาย ๆ ส่วนแล้ว ทั้ง วช. / สสส. ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการวางแผนอย่างไร สำคัญที่สุด การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จริงที่ยอมรับ หรือเป็นวิทยาศาสตร์
บทเรียนที่เกิดขึ้นที่ กทม. ควรนำไปปรับใช้ในการวางแผนและการจัดการ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และพื้นที่ภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับปัญหา และสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมต่อไป
Source: TEI
Share: