ฝุ่น PM 2.5 โจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องแก้ เพราะแค่ ‘สร้างจิตสำนึก’ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป (In Thai)

เพราะฝุ่น PM 2.5 คือปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทุกปี และยังไม่มีทีท่าว่าภาครัฐจะมีนโยบายจัดการเรื่องนี้อย่างไร ทำให้ PM 2.5 กลายเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมและวงวิชาการต้องร่วมพูดคุยกัน และยืนยันว่า ‘อากาศสะอาด’ เป็นสิทธิที่คนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม สมาคมนักเรียนทุนชีฟนิ่ง (ประเทศไทย) และเครือข่ายผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมจัดกิจกรรม Chevening Thailand Policy Forum: Moving towards clean air rights in Thailand เพื่อรับฟัง กระตุ้นคิด และหาแนวทางการพัฒนาสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาดในประเทศไทย โดยมีกิจกรรมกระตุ้นคิด ในหัวข้อ ‘อากาศสะอาด’ และกิจกรรม Networking (การเชื่อมสัมพันธ์) ของเครือข่ายนักเรียนทุนชีฟนิ่ง (ประเทศไทย) และองค์กรภาคี

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือ เวทีสาธารณะ เรื่อง ‘สิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาดในประเทศไทย’ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ

 

ฝุ่นมาจากไหน?

เปิดเวทีด้วย วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งขณะนี้เป็นประธานกรรมการที่ดูงานวิจัยด้านฝุ่น PM 2.5 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้ทุนถึง 100 ล้านบาท จะมาคลายข้อสงสัยว่าฝุ่นมาได้อย่างไร 

โดยเริ่มจากกรุงเทพมหานครก่อน ที่เจ้าตัวบอกเองว่า “เราไม่ทราบว่าในกรุงเทพฯมาจากไหนบ้าง” แต่เวลาดูเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศภายใน เมื่อเราต้องดูว่ามาจากแหล่งไหน ซึ่งมีทั้งแหล่งที่อยู่กับที่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งที่เคลื่อนที่ได้ เช่น รถยนต์ โดยแหล่งที่ไม่รู้มาจากไหน ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ ที่กรุงเทพฯ มีสัดส่วนกว่าประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือมาจากภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง 

“ในการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อไอเสียรถ ที่ก่อปัญหาคือรถดีเซล มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ซึ่งตอนนี้เราพยายามที่จะปรับปรุงน้ำมันให้เป็นมาตรฐานของ Euro 5 และ Euro 6 แต่รัฐบาลได้เลื่อนออกไป ที่จะมีการใช้ในเดือนมกราคม 2567”

วิจารย์ อธิบายต่อไปยังส่วนในพื้นที่ภาคเหนือว่า สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในพื้นที่โล่ง (open burning) ที่มีการเผาทั้งในประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากดาวเทียมล่าสุดที่ระบุว่ามีจุดเผาอยู่ที่ไหน ในขณะเดียวกันสิ่งที่จะบอกว่าอากาศเป็นอย่างไรก็มีเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เช้าวันที่ 11 มีนาคม ค่าสูงสุดอยู่ที่ภาคเหนือ ประมาณ 100 กว่าไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ซึ่งตอนนี้มาตรฐานปรับเป็น 50 (µg/m³) โดยเรื่องมาตรฐานจะดูเรื่องของเวลา เพราะเกี่ยวข้องกับผลกระทบระยะยาว

 

 

จากนั้นเมื่อมาถึงเรื่องที่ว่า ทำไมคนถึงไม่ตระหนักในเรื่องนี้ วิจารย์ให้เหตุผลว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้คนเสียชีวิตทันที แต่เป็นผลระยะยาว ทางกรุงเทพฯ ก็สรุปออกมาชัดเจน ในช่วงที่มีปัญหามลพิษทางอากาศและในช่วงที่ผ่านมา 64 วัน มีคนเข้าโรงพยาบาลเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากกว่า 15,000 คน ซึ่งภาคเหนือก็เช่นเดียวกัน และบ่งบอกว่าสิ่งเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเรื่องของสุขภาพ การท่องเที่ยว และอีกมากมาย 

“หลายคนถามว่าทำไมมีปัญหาแค่ช่วงนี้ ในเรื่องรถยนต์กรุงเทพฯ เท่าเดิมเกือบทุกวัน แต่สภาพอุตุนิยมวิทยา หรือสภาพอากาศนั้นคุมไม่ได้ สภาพบางช่วงก็เหมือนฝาชีครอบ เพราะฉะนั้นเวลาเราปล่อยมลพิษก็จะไม่กระจาย เกิดการสะสม ในขณะที่มลพิษจากทางอื่นก็มารวมกันอีก เพราะฉะนั้นก็เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ” 

 

ต้องแก้ที่แหล่งฝุ่น ทำไมกฎหมายถึงควบคุมไม่ได้สักที

วิจารย์ อธิบายเพิ่มว่า สิ่งที่เราต้องแก้คือ ไปดูที่แหล่งต้นตอของฝุ่น ต้องลดให้มากที่สุด บางคนบอกว่ามาตรฐานเราสูงไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน PM2.5 หลังเกษียณวิจารย์ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานที่กำหนดค่ามาตรฐาน

“โดยมาตรฐานในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 จึงจะมีมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งตามองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นเทียร์ที่ 2 จาก 50 µg/m³ : 20 ชั่วโมง จะเหลือ 35 µg/m³ : 20 ชั่วโมง  และค่าเฉลี่ยรายปีจะดูผลระยะยาว ซึ่งเดิมจาก 25  µg/m³ จะเหลือ 15 µg/m³ ซึ่งมาตรฐานเดิมเรายังทำไม่ได้ ซึ่งถ้ามีมาตรฐานใหม่ และวิถี คน ระเบียบ เราไม่เปลี่ยน ก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น”

“อย่างเช่น กรณีการเผาในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งตอนนี้ผลกระทบชัดเจน ความเข้มข้นของ PM 2.5 มีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้และปีที่แล้ว ในขณะที่มีจำนวนวันที่มี PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานก็สูงขึ้นเช่นเดียวกัน และมีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 ของประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นี่ก็เป็นการสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น”

 

 

วิจารย์ ยังได้พูดถึงเรื่องการใช้รถว่า หลายคนพูดถึงเรื่องความตระหนัก ทำไมคนรู้ว่ามีผลกระทบ ก็ยังเผาอยู่ ยังใช้รถอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เสียชีวิตทันที แต่สิ่งสำคัญคือทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร จึงเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารไปอย่างชัดเจน  เรื่องการแก้ไขปัญหา ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายหลายเรื่อง 

“แล้วทำไมกฎหมายที่มีควบคุมไม่ได้สักที นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าเราไปควบคุมอย่างไรซึ่งตรงนี้นโยบาย ก็มีออกมาทั้งมาตรการต่างๆ แต่ท้ายที่สุดปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องแยกให้ชัดเจน อุตสาหกรรมนั้นพร้อมที่จะปรับเพียงแต่ต้องชัดเจน

“ในขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญ ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมจะทำอย่างไร ในภาคอุตสาหกรรมยังคงใช้ในเรื่องของเชื้อเพลิงร่วม คือใช้ถ่านหินกับน้ำมัน ซึ่งถ่านหินก็เป็นแหล่งสำคัญของฝุ่น ส่วนภาคของเกษตรความจริงเรามีการศึกษาวิจัยและมีทางเลือกต่างๆ ทำไมเขาถึงไม่เลือกส่วนนี้เราต้องวิเคราะห์ต่อ เช่น การทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยว คือข้าวโพดในพื้นที่ป่า ซึ่งตรงนี้ก็ชัดเจนว่าจุดความร้อนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งมี 2 ประเภท คือป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ แต่ก็ยังมีการใช้พื้นที่หรือใช้เชื้อเพลิง”

 

ทำไมเกษตรกรต้องเผา? 

สาเหตุที่หลายคนต่างสงสัยว่าทำไมเกษตรกรต้องเผา วิจารย์ ให้คำตอบว่า เป็นวิถีเกษตรเดิมโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพดปลูกในที่ลาดชันสูง ซึ่งถ้าไม่เผาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หลายคนบอกว่าให้ไปทำชีวมวล แต่จะเอาลงมาอย่างไร ก็เป็นคำถามที่ต่อเนื่อง ท้ายที่สุดเรื่องคนกับป่าตรงนี้ที่เราพูดถึงจะบริหารจัดการอย่างไร เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ 

“การปลูกอะไรที่ไม่เผา ตรงนี้ก็มีหลายพื้นที่หลายชุมชนทำ เราจะมีการวิเคราะห์ทั้งห่วงโซ่อุปสงค์และห่วงโซ่อุปทานหรือไม่ว่าพืชผลชนิดนี้มาอย่างไร ซึ่งต่อไปต้องทำอย่างนี้ และมีหลายบริษัทแล้วที่เข้าไปดูในห่วงโซ่ต่างๆ เพราะเวลาเราใช้มาตรการกฎหมายทางการเกษตรก็ไม่มีทางออก ต้องใช้เป็นลักษณะในมาตรการจูงใจมากกว่า ถ้าใครไม่เผาก็ได้อีกราคาหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร

“อย่างร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด มีมาตรการส่งเสริม เราคิดมานาน แต่ถูกปัดตกทุกที โดยเฉพาะเมื่อมีกองทุนเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง PM 2.5 มาจากการใช้น้ำมัน จะนำเงินส่วนหนึ่งจากกองทุนน้ำมันนี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมาใช้ไม่ได้ เพราะกองทุนน้ำมันใช้เฉพาะสนับสนุนราคาน้ำมัน เป็นหลักการที่ไม่ยาก แต่จะย้ายกฎหมายหนึ่งเป็นอีกกฎหมายหนึ่งเป็นเรื่องยาก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญ จะมีจุดช่องว่างหลายๆ จุด”

นอกจากนี้ วิจารย์ ยังเสริมอีกว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นข้ามพรมแดนก็เป็นปัญหาหนัก เราเผาลดลง แต่เพื่อนบ้านยังเผาหนัก จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องมองเหมือนกัน เพราะสินค้าบางส่วนก็ของประเทศไทย อย่างประเทศสิงคโปร์ก็ออกกฎหมายควบคุม เพราะสิงคโปร์ไม่มีพื้นที่เกษตร แต่สิงคโปร์รับเต็มๆ เมื่อมีการเผา แต่ไม่สามารถควบคุมประเทศอื่นได้ สิ่งที่ทำได้คือไปควบคุมคนสิงคโปร์ที่ไปลงทุนในประเทศอื่น 

“ปัญหา PM 2.5 เป็นปัญหาที่ซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง มีแหล่งหนึ่งที่เรียกว่า ทุติยภูมิ เป็นสิ่งที่เกิดปฏิกิริยาของสิ่งที่ปล่อยออกไป เช่น โอโซน หรือไนโตรเจนออกไซด์ที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อเจอแสงแดดกับฝุ่นก็เพิ่มปริมาณ PM 2.5 ก็เป็นประเด็นปัญหาที่เราต้องทำความเข้าใจ”

 

ช่วยโลกร้อน = ลดฝุ่น PM 2.5 ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวด้วยกลไกตลาด ร่วมสร้างธุรกิจสีเขียว

นที สิทธิประศาสน์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในภาคส่วนของอุตสาหกรรมด้วยคำว่า “อุตสาหกรรมหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นตัวต้นเหตุอย่างหนึ่ง” 

ในส่วนที่ ส.อ.ท. ทำเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม BCG Model (การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม) เราได้ตั้งคณะกรรมขึ้นมาโดยเฉพาะ เรามีทั้งหลักในเรื่อง BCG  และเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) แน่นอนว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่ผ่านมา ภาคเอกชนเป็นตัวช่วยผลักดันในเรื่อง BCG 

นที อธิบายต่อว่า เรื่อง PM 2.5 กับ เรื่อง BCG ฟังดูอาจจะเหมือนคนละโลก แต่ความจริงคือเรื่องเดียวกัน หมายความว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นจับต้องได้ที่เราเห็น แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากก๊าซเรือนกระจก ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจคือฝั่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นความกระตือรือร้นมากกว่า ร่วมมือกันในระหว่างประเทศ กำหนดเป้าหมายชัดเจน 

“ดังนั้น จากที่สังเกตวิถีทางแก้ปัญหาเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกและการศึกษา แต่ถึงจุดหนึ่งประชาคมโลกมองว่าการสร้างจิตสำนึกไม่เพียงพอแล้ว จึงเริ่มนำเรื่องกลไกตลาดเข้ามาคือเรื่องของคาร์บอนเครดิต ถ้าคุณลดได้คุณมีเครดิต และนำไปขายคนอื่น

“การทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น การลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซต่างๆ นั้นหมายถึงเงิน เรียกว่า carbon pricing เป็นเงินที่ต้องใส่และลงทุนลงไป เป็นการตลาดที่เข้ามา สุดท้ายตามมาด้วยภาคบังคับ ซึ่งในบ้านเรายังไม่มีข้อบังคับในเรื่องการปล่อยก๊าซต่างๆ พวกนี้ แต่มีในยุโรป บางประเทศในอาเซียน รวมถึงจีน ที่ถ้าปล่อยมากเกินจะเสียค่าปรับ ก็เกิดตลาดอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน”

 

 

นที เปิดเผยอีกว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องการมีข้อมูลว่าสิ่งที่ปล่อยออกมาทั้งหลายของภาคอุตสาหกรรมเป็นเท่าไรกันแน่ เพราะอีกไม่นาน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ….ก็จะบังคับให้นิติบุคคลรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ ไม่เช่นนั้นมีโทษปรับที่สูงสุดถึง 100,000 บาท เพราะฉะนั้นจุดที่เรามองคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ PM 2.5 ในสิ่งที่ ส.อ.ท. อาจจะไม่ได้ทำโดยตรง แต่ด้วยธุรกิจนั้นดำเนินการไปแล้ว 

“ในกรุงเทพฯ แหล่งจากท่อไอเสียเป็นตัวสำคัญ และรัฐบาลก็มาถูกทางแล้วที่จะขับเคลื่อนเรื่องของ EV เราต้องมีรถ EV 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2573 เริ่มสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถ EV อย่างรถไฟที่วิ่งในเมืองต่อไปหัวรถจักรจะเป็นไฟฟ้า เพราะฉะนั้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก และสิ่งที่มารองรับตรงนี้ก็ไปถึงเรื่องแบตเตอรี่ เบื้องต้นภายใน ส.อ.ท.เอง เราก็พยายามขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้”

“เป้าหมายของเราเรื่องพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ตรงนี้เป็นเป้าใหญ่ของเรา แต่เป้าหมายของรัฐบาลอ่อนไป แผนพลังงานชาติออกมาตั้งเป้าว่าจะต้องมีพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เราทำตัวเลขของเราออกมาเอง ความจริงต้องเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อยถึงจะบรรลุเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีตั้งไว้ เป้าหมายต้องเข้มข้นกว่านี้”

 

แนวทางอุตสาหกรรมในอนาคต เมื่อพลังงานหมุนเวียน 100% ยังเป็นไปไม่ได้ในไทย

นที เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาอีกถึงเรื่องการเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy หรือ RE) ว่า ให้การไฟฟ้ารัฐวิสาหกิจทั้ง 3 เจ้าเปลี่ยนเป็นเสรีได้หรือไม่ และสามารถซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนจากโรงผลิตได้หรือไม่ ซึ่ง ณ วันนี้ยังทำไม่ได้ต้องซื้อจากการไฟฟ้าเท่านั้น แต่โรงงานภาคอุตสาหกรรมเดินไปไกลแล้ว แต่ก็ต้องใช้ไฟฟ้าจากฟอสซิลอยู่ดี เพราะว่าไฟฟ้าบ้านเราผลิตจากฟอสซิล 70 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆเป็น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

“โรงงานใหญ่ อย่าง PANDORA จากเดนมาร์กที่ผลิตเครื่องประดับ มี 2 โรงงาน ในประเทศไทย ได้มาปรึกษากับ ส.อ.ท.ว่าผู้ถือหุ้นของเขาให้โจทย์มาว่าอีก 4 ปีข้างหน้า ทำอย่างไรให้โรงงานใช้พลังงานจากไฟฟ้าหมุนเวียนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ RE100 ซึ่งกำลังเป็นกระแสทั่วโลก และคำตอบคือทำไม่ได้ในไทยใช้ไฟฟ้าจากฟอสซิล 70 เปอร์เซ็นต์ จะทำได้อย่างเดียวคือเปิดเสรี”

นที ย้อนกลับมาที่ประเด็น PM 2.5 ว่า อยากเห็นความเข้มข้นว่าทำไมเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรายังตื่นตัวกันได้ขนาดนี้ แต่ทำไมเรื่อง PM 2.5 ดูแผ่วๆ อย่างไรก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำไมเราไม่เอาความเสียหายในแต่ละปี อย่าง กทม.เคยวิจัยว่าความเสียหายจากฝุ่นเป็น 2,000 ล้านบาท ปีหนึ่งจะเป็นแสนล้าน 

“เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยเรื่องกองทุน แนวทางที่เรานำเสนออันหนึ่ง ถ้าในเมืองเรื่อง EV และ RE เข้ามาจะช่วยได้ อย่างในต่างจังหวัดก็น่าจะเป็นในเรื่องป่าชุมชน ถ้าเขาช่วยดูแลก็มีผลประโยชน์ตอบแทน เช่น ฟางข้าวโพดหรือฟางข้าวมี 10 กว่าล้านตันต่อปี นำไปเลี้ยงสัตว์สักครึ่งหนึ่ง ที่เหลือไม่รู้ทำอะไรก็ไปเผา แต่อย่างอ้อยดีกว่าที่ โรงงานผลิตน้ำตาลมีการโรงไฟฟ้าของตัวเอง ก็ให้เอาใบอ้อยยอดอ้อยมาเผาเป็นเชื้อเพลิงได้ เขาจ่ายค่ายอดและใบอ้อยให้ตันละ 1,000 บาท”

“พวกฟางข้าวขายโรงเลี้ยงสัตว์ได้ทำไมถึงจะขายเข้าโรงไฟฟ้าไม่ได้ โรงไฟฟ้าซื้อมาผลิตดีกว่าเผาในที่โล่งแจ้ง เพราะในโรงไฟฟ้าจะมีการควบคุม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าแล้วใครจะจ่ายค่าขนส่งต่างๆ จะไปตกที่ค่าไฟฟ้าแน่นอนเพราะว่าก็ต้องจ่ายเพิ่ม ตรงนี้รัฐบาลและกองทุนต้องเข้ามาดู ที่อาจจะช่วยค่าไฟฟ้าสักส่วนหนึ่ง มีเงินกองทุนเข้ามาส่วนหนึ่ง และเกษตรกรจะได้มีชีวิตอยู่ได้กับฟางข้าวโพดหรือฟางข้าวโดยไม่ต้องเผา”

 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือปัญหาทางโครงสร้าง และปัญหาซับซ้อน

วีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือปัญหาทางโครงสร้างที่ใหญ่มาก กับอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ดังนั้น สิ่งที่ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาดที่เรามองคือเราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ เพราะว่าถ้าเรายังอยู่ในโครงสร้างเดิมๆ ทุกอย่างก็จะวนและกลับมาเหมือนเดิม เรื่องนี้ก็จะไม่จบ

“สิ่งที่ร่าง พ.ร.บ.นี้แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ คือเรายกประเด็นของสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด ซึ่งสิทธินี้จะไปสู่หน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องปกป้องสิ่งนั้น เพราะที่ผ่านมาในการที่จะแก้ปัญหานี้ ทุกครั้งจะเป็นการใช้เพียงซีกของอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก”

วีณารีน อธิบายต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือเรานำประเด็นของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาผนวกกัน และไม่ได้ทำเพียงการคัดลอกและวาง แต่เป็นการร้อยพวงมาลัย คือการนำกลไกของภาครัฐที่มีอยู่แล้วกับสิ่งที่ตั้งใจที่จะทำขึ้นมา โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกันรัฐและภาคประชาชนมาแก้ปัญหานี้ ที่จะกำกับดูแลตรวจสอบนโยบายตั้งแต่ต้น และเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีความสามารถเรื่องนี้

“ข้อสำคัญคือเรื่องการเผา ปัญหาไม่ใช่แค่ว่าทำไมเขาถึงต้องเผา ถ้าไปคุยกับคนที่เผาจริงๆ เขาจะบอกว่า ขอไม่เผาแล้วมีข้าวกิน ตรงนี้คุณแก้ได้ไหม ถ้าคุณไม่แก้ถึงจุดนี้ เรื่องนี้ไม่จบ ดังนั้นเราจึงสร้าง economic incentives (แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ) เพื่อให้ทุกคนลดมลพิษเรื่องอากาศ  นอกจากนี้เราจะมีกองทุนอากาศสะอาดอีกด้วย”

 

 

คนเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่าโควิด ความตระหนักที่ยังไม่พอ

พัทธานันท์ อัชชะกุลวิสุทธิ์ นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ได้มาอธิบายในเรื่องผลกระทบว่า ฝุ่น PM2.5 คือหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่แย่ที่สุด และ หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าสารเคมีอื่น เช่น โอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ทำให้ไม่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน เช่น โรคทางหัวใจ ทางปอด โรคหอบหืด และเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และทุกคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคหัวใจ โรคทางปอด หรือโรคหอบหืดจะมีความเสี่ยงมากกว่า เช่น เด็กหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และอยู่ในวัยที่หลายๆระบบและส่วนต่างๆ ของร่างกายกำลังพัฒนา และตัวเล็กกว่า จะใกล้กับฝุ่นควันรถยนต์มากกว่า 

“คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศที่ไม่ใช่แค่ฝุ่น PM 2.5  แต่รวมทั้ง PM0.1 PM10 และก๊าซโอโซน เป็นจำนวน 41,000 คน ต่อปี จากรายงาน global burden of disease (GBD) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) แต่ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดจากรวม 3 ปีคือ 34,000 คน จากรายงานองค์การอนามัยโลก แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังไม่ถูกตระหนักถึงว่านี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งการไม่ตระหนักในเรื่องนี้พอ เนื่องจากอาจยังไม่เข้าใจเรื่องผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว ว่าสิ่งเหล่านี้แย่ต่อเราขนาดไหน รวมถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ เราอาจจะต้องมีวิจัยทำเรื่องนี้เพิ่มว่าคนเสียชีวิตเท่าไร มีฝุ่นที่สูงสุดเป็นช่วงหรือเพิ่มขนาดไหน”

พัทธานันท์ พูดถึงกรณีตัวอย่างคือ ที่อเมริกามี U.S. Environmental Protection Agency หรือ EPA (สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1970 โดยก่อนหน้านั้นประชาชน นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ออกมาสู้เรื่องนี้กว่า 20 ปี จากการเดินประท้วง โทรศัพท์หรือเขียนจดหมายหานักการเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีความแก้ไขเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ หลายปีต่อมา EPA มาคำนวณผลจากการได้มาซึ่งอากาศสะอาดเป็นมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ 

“ตอนนี้ที่อเมริกา เรื่องไปถึงว่าใครเจอปัญหามลพิษเยอะมากกว่า คือมองไปข้างหน้าแล้วมองไปข้างหลังด้วย เช่น ในอเมริกาช่วง 1930 มีนโยบาย redlining ที่รัฐบาลจะกำหนดว่าบางส่วนในแต่ละเมืองมีความเสี่ยงสูง และเป็นพื้นที่ที่มีคนผิวดำ และผู้ลี้ภัยอยู่เยอะที่สุด ซึ่งนโยบายนี้ก็ส่งผลมายังปัจจุบัน ทำให้ทุกวันนี้ในเมืองพวกนั้นจะมีระดับมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าที่อื่นๆ และถูกผลักโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไปอยู่ในโซนนั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากให้มองว่าเราจะสร้างนโยบายอย่างไรที่สร้างเพื่อสุขภาพของมนุษย์จริงๆ ให้นโยบายมาจากพื้นฐานวิทยาศาสตร์และความเท่าเทียม”

Source: Thairath Online

Compiled by:

Dr. Wijarn Simachaya

President of Thailand Environment Institute

Related Article: