TEI และกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมียนมา พร้อมภาคีความร่วมมือจัดอบรมแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการเกษตรลดการเผาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก้ไขปัญหาและลดหมอกควันข้ามพรมแดน (In Thai)

25 พฤศจิกายน 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดยโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน นำโดย ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษหมอกควันข้ามแดน คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญ และคณะนักวิจัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดการการเกษตรลดการเผาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานภาครัฐกรมเกษตร กรมป่าไม้ กรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนปิดอร์ รัฐบาลรัฐฉาน ผู้นำชุมชน และเกษตรกรในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ณ โรงแรม 1G1 ท่าขี้เหล็ก เมียนมา เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เทคโนโลยี นวัตกรรม แนวปฏิบัติดีการจัดการเกษตรลดการเผา แก้ไขปัญหาหมอกควันและขับเคลื่อนสู่ปฏิบัติอย่างรูปธรรมในระดับพื้นที่

การอบรมได้รับเกียรติจาก Mr. Thein Toe อธิบดีกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมียนมา และ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษหมอกควันข้ามแดน ร่วมเป็นประธานการประชุมและกล่าวถึงความสำคัญและข้อมูลสถานการณ์ของความร่วมมือเมียนมาและไทย ในการแก้ไขปัญหาการลดหมอกควันข้ามแดนขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ พร้อมด้วยคณะวิทยากรจากฝ่ายไทยและเมียนมา ประกอบด้วย คุณเกศศินี อุนะพำนัก กรมควบคุมมลพิษ Ms. Thaw Thaw Han Director,Environmental Conservation Department, Nay Pyi Taw พ.อ.พิเชษฐ์ พันธุ์เพ็ง กรมกิจการชายแดนทหาร คุณวิเชียร ทองอร่าม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และคุณพรพิมล บุญวงค์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เชียงราย ร่วมบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมได้รับเกียรติจากพลจัตวา จ่อ แท็ด  เสนาธิการภูมิภาคทหารบกสามเหลี่ยมและคณะทหาร ผู้ว่าจังหวัดเชียงตุง และผู้ว่าจังหวัดท่าขี้เหล็ก เข้าร่วมในการอบรมครั้งนี้ด้วย 

พร้อมนี้ คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ได้แนะนำการดำเนินงานโครงการและชี้แจงแผนกิจกรรมนำร่องรูปแบบแนวปฏิบัติดี ความร่วมมือลดการเผาและลดหมอกควันข้ามแดน ”ซังข้าวโพด อาหารสัตว์ ลดเผา“ เพื่อส่งเสริมและรณรงค์รวบรวมซังข้าวโพด รวมถึงเพิ่มมูลค่าโดยการหมักหรืออัดซังข้าวโพดเป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุนการผลิต ลดปัญหาการเผาเพื่อเป็นแนวทางในการระบุรูปแบบแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในระดับพื้นที่ภายหลังการร่วมกันสำรวจหมู่บ้านเป้าหมายต่อไป

การอบรมครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างเมียนมาและประเทศไทยและความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเน้นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการเกษตรกรรมเพื่อลดการเผา การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการผลักดันนโยบายร่วมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ตัวแทนชุมชนในพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอแนวทางปฏิบัติจริงที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรในระดับพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจ ร่วมผลักดันและพัฒนาความร่วมมือไทย-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดนในระยะยาวให้เกิดความยั่งยืนต่อไป