TEI ร่วมสะท้อนความก้าวหน้าการดำเนินงานลดหมอกควันข้ามแดน ร่วมกับ หน่วยงานบูรณาการ (In Thai)

19 พฤษภาคม 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI เข้าร่วมนำเสนอผลความก้าวหน้างานวิจัยในการประชุมติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 (Steering Committee) ครั้งที่ 4 โดยมี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 เป็นประธานการประชุมติดตามงาน พร้อมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) หน่วยงานบูรณาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

TEI เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมการดำเนินงานขับเคลื่อนกลไกและพัฒนาความร่วมมือในการดำเนินงานลดฝุ่นข้ามแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านไทย ลาว และเมียนมา ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลปฏิบัติกับการผลิตการเกษตรลดการเผาในประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญที่สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสามประเทศตลอดจนการถอดบทเรียนการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และความร่วมมือจากกรมควบคุมมลพิษ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาคีความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันทำงานเชิงรุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้มากขึ้นทั้งในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่ปฏิบัติการลดการเผาที่เป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการจัดทำแผนและการผลักดันให้เกิดพื้นที่นำร่องลดการเผาใน สปป.ลาวและเมียนมา จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อนำไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดนระหว่างกันต่อไป

การประชุมครั้งนี้ คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ได้ร่วมการนำเสนอครึ่งทางว่าการดำเนินงานโครงการ เป็นกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งมีความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนร่วมกับเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ในการจัดประชุมความร่วมมือและหารือในระดับพื้นที่เมืองปากทา ซึ่งถือเป็น 1 พื้นที่เป้าหมายและอยู่ระหว่างการจัดกระบวนการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้นำในการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ในกลางเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ส่วนประเทศเมียนมาเบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลการเสนอพื้นที่นำร่องที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก และอยู่ระหว่างการยืนยันเพื่อเข้าร่วมการหารือขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และพัฒนากลไกและความร่วมมือในระยะต่อไป พร้อมนี้ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้กล่าวสนับสนุนว่าในการดำเนินงานในระยะต่อไปหากผนวกประเทศกัมพูชาเข้าร่วมการลดหมอกควันข้ามแดน จะเป็นการขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคได้มาก เพราะจะเป็นการขยายกลไกและเชื่อมโยงความร่วมมือการทำงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศได้ในระยะต่อไป