To achieve the best eco-packaging is to cooperate with all sectors in the development of Green Packaging guidelines.  (In Thai)

2 มีนาคม 2566 โครงการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 มติ 14.1 การเสริมสร้างสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤติโควิด-19: การจัดการขยะติดเชื้อชุมชนและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1 จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาแนวทางการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี เพื่อทดแทนและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม นางสาวสิริกร เค้าภูไทย ผู้เชี่ยวชาญ สำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวเปิดการประชุม โดยทีมวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานโครงการฯ รวมถึงผลการสำรวจและผลการสัมภาษณ์ ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการจัดการพลาสติกเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพการดำเนินงานและจัดทำเล่มแนวทางฯ ดังกล่าว 

ภายในงานได้จัดช่วงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทางเลือกเพื่อทดแทนและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” โดยมี คุณประลอง ดำรงค์ไทย ผู้แทนจากมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน, คุณสุธิศา พรเพิ่มพูน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, คุณคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและวิจัยอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก, คุณณัฏฐิณี เนตรอำไพ ที่ปรึกษาอาวุโสส่วนองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด และ ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมประจำโครงการฯ ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการเสวนาที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการจัดทำแนวทางการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
  • บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด คือการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ ควรให้ระดับความสำคัญของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับลำดับชั้นของการจัดการขยะ คือ ให้ลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เปลี่ยนรูปเป็นพลังงานรวมถึงการหมักทำปุ๋ย ก่อนกำจัดทิ้งขั้นสุดท้าย
  •  กำหนดตราสัญลักษณ์บนภาชนะและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจะช่วยให้เกิดการจัดการปลายทางที่เหมาะสม  โดยประชาชนอาจคัดแยกแค่ขยะเปียก (อินทรีย์) กับขยะแห้ง (ทั่วไป+รีไซเคิลได้)
  • ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพยังมีข้อจำกัด ต้องสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้อย่างถูกต้องว่าใช้กับสินค้าชนิดใดได้บ้าง และต้องคำนึงความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นอันดับแรก

ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะนำข้อแนะนำไปพัฒนาแนวทางการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมสร้างความตระหนักในภาคประชาชน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายส่งต่อให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องนำไปใช้ต่อไป