กิจกรรม

โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม:
ตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชน (ประเมินผลครั้งที่ 2)

(Thai / English)

เพื่อติดตามว่าผลการดำเนินงานของรัฐในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม ว่ามีความคืบหน้าจากการดำเนินงานเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ในปีพ.ศ. 2544 ซึ่งได้มีการทดสอบนำร่องตัวชี้วัดนี้) มากน้อย เพียงใด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจึงร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร และนักวิชาการจากหลากหลายองค์กร จัดตั้ง “เครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย” และดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม: ตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชน (ประเมินผลครั้งที่ 2) โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษ (UK Government’s Global Opportunities Fund) ทั้งนี้ ในการประเมินผลครั้งที่ 2 นี้ เครือข่ายฯ ได้เชิญภาครัฐเข้าร่วมในการประเมินผลด้วย เพื่อช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรประชาสังคม ในการผลักดันให้มีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ในการประเมินผลการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 นี้ เครือข่ายฯ ได้เชิญภาครัฐเข้าร่วมในการประเมินผลด้วย เพื่อช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรประชาสังคมในการผลักดันให้มีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างแท้จริง เครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมจึงได้ขยายเพิ่มขึ้นและจำนวนนักวิจัยในคณะนักวิจัยมีจำนวนกว่า 17 ท่าน (นักวิจัย 11 ท่าน และผู้ช่วยนักวิจัย 6 ท่าน) นอกจากนี้ เพื่อให้ผลการศึกษาเป็นไปอย่างรอบคอบและถูกต้อง จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีศึกษาที่ใช้ในการประเมิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน รวม 16 ท่าน ใช้กรณีศึกษาทั้งหมด จำนวน 22 กรณีศึกษา และดำเนินการศึกษาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2547 ถึงต้นเดือนมีนาคม 2548

เครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
นำเสนอผลการประเมินธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
ในการสัมมนานำเสนอร่างผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์

ภายหลังจากที่มีการปริทัศน์ผลการศึกษาโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการรวม 3 ครั้ง และได้มีการปรับปรุงแก้ไขผลการศึกษามาเป็นลำดับ คณะนักวิจัยได้จัดให้มี “การสัมมนานำเสนอร่างผลการศึกษาและระดมความคิดเห็น โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม: ตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชน (ประเมินผลครั้งที่ 2)” ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

วัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา คือ เพื่อเผยแพร่ผลการประเมินและประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างผลการประเมิน ทั้งนี้ ได้เชิญภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมาย องค์กรชุมชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งหมดประมาณ 200 ท่าน คณะนักวิจัยได้ประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับลงในรายงานการประเมิน นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ทั้งจากการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการที่ปรึกษาและคณะนักวิจัย และจากการประชุมเผยแพร่ผลการประเมิน และได้จัดส่งให้เครือข่ายนานาชาติของ The Access Initiative เพื่อปรับปรุงกรอบตัวชี้วัดในระดับสากลต่อไปแล้ว

ผลการประเมินธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 นี้ ได้ถูกรวบรวม เรียบเรียง และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ฉบับภาษาไทย ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและสถาบันพระปกเกล้าได้มอบให้แก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยขอขอบคุณ the Canadian International Development Agency (CIDA) มูลนิธิวิเทศพัฒนา และสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาและจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว

รายงานฉบับภาษาไทยที่ได้มีการตีพิมพ์นั้น ชื่อว่า ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม: ตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ. 2548 (ประเมินผลครั้งที่ 2) ได้เผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งสามารถติดต่อขอรับได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถดาวน์โหลดไฟล์รายงานทั้งฉบับได้ (คลิ้กที่ชื่อหนังสือข้างต้น) นอกจากนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดพิมพ์รายงานบทสรุปผู้บริหาร ซึ่งคาดว่าจะนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภายใต้ชื่อ Thailand’s State of Environmental Governance Report 2005 (2nd Assessment) ซึ่งสามารถดาวน์โหลไฟล์รายงานทั้งฉบับได้ (คลิ้กที่ชื่อหนังสือข้างต้น) เพื่อให้รายงานนี้เข้าถึงประชาชนทั่วไปได้มากขึ้น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกำลังจัดทำรายงานบทสรุปธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2548 ภาคประชาชน โดยใช้สำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายงานฉบันนี้จะช่วยกระตุ้นความสนใจ สร้างความเข้าใจ และเพิ่มจิตสำนึกของทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน และจากที่โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งริเริ่มโดยภาคประชาสังคมได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐทั้งในส่วนของการประเมินผลร่วมกันและการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษา จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การติดตามประเมินผลความพยายามของรัฐในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของรัฐเพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเพื่อปฏิบัติตามหลักการข้อที่ 10 ของปฏิญญาริโอฯ ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล