ฉลากลดคาร์บอน | Carbon Reduction Label

 

 

 

คืออะไร/สื่ออะไร

 

ที่มาและความสำคัญ

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ นานาประเทศจึงหันมาให้ความสนใจและตระหนักถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีการลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถทำได้โดยการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมถึงภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนของผู้บริโภคที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตและภาคการบริการ คือ การเลือกซื้อสินค้าและเลือกใช้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีประเภทเดียวกัน ซึ่งผู้บริโภคจำเป็นต้องดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ

ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางเดียวกัน ทั้งยังใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานทุกภาคส่วนให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ข้อ ได้แก่ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4) การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตทีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กล่าวมาในข้างต้นจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) พร้อมทั้งการปฏิรูปประเทศและการปรับโครงสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 ในอนาคต ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี โดยแปลงมาจากยุทธศาตร์ชาติ20 ปี สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จึงได้ดำเนินการให้การรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับผลิตภัณฑ์ (ฉลากลดคาร์บอน) การรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับอาคาร (อาคารลดคาร์บอน) และ การรับรองการใช้หรือผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ภาคการผลิตพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ภาคบริการมีมาตรการดูแลบำรุงรักษาอาคาร สร้างความตะหนักให้ผู้ใช้บริการอาคารให้มีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า รวมถึงเพื่อป้องกันการขาดแคลนพลังงานในอนาคต

 

วัตถุประสงค์:

  1. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และเลือกใช้บริการอาคารที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณต่ำ
  2. เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการอาคารในการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
  3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้หรือผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น

 

ขอบเขตการดำเนินงาน:

การรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการให้การรับรองฯ ดังต่อไปนี้

  1. การรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับผลิตภัณฑ์
  2. การรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอาคาร
  3. การรับรองการใช้หรือผลิตพลังงานหมุนเวียน

 

ประโยชน์ที่ได้รับ:

  1. สินค้าที่ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอนจะเป็นแนวทางใหม่ในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  2. แสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทที่มีความตระหนักและใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยผลิตสินค้าที่มีความเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท
  3. ฉลากลดคาร์บอนถือเป็นหนึ่งในกลไกการตลาดที่มีศักยภาพสูงเพื่อขับเคลื่อนผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
  4. ผู้ประกอบการจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานไฟฟ้า ประกอบกับปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตที่ลดลง ทั้งนี้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) จะถูกกระตุ้นจากกลไกนี้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดหาวัตถุดิบที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

 

ข้อดีของการมีฉลากลดคาร์บอน:

.::: ผู้บริโภคได้อะไร :::

  • ทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับปรุงกระบวนการผลิต การได้มาซึ่งวัตถุดิบ และผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย
  • มีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

.::: ผู้ผลิตได้อะไร :::.

  • ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน
  • แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท

 

รูปแบบฉลากลดคาร์บอน:

 

 

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
16/151 เมืองทองธานี ถนนบอนด์สตรีท ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
โทรศัพท์ 02 503 3333 ต่อ 512, 511, 513, 514
โทรสาร 02 504 4826

Websites:
www.tei.or.th

 

 

 


Copyright TEI All rights reserved.