บอกเล่าเรื่องราวการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดแนวปฏิบัติที่ดีกิจกรรมสร้างสุข 6 องค์กรภาคีภาคประชาสังคมภาคเหนือ

27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2566 โครงการศึกษาและพัฒนาองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม นำโดย คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.อธิวัฒน์ เจี่ยวิวรรธน์กุล ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรสุขภาวะ พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการ เยี่ยมเยือนองค์กรภาคีภาคเหนือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการสร้างสุขร่วมกับผู้บริหารและแกนนำ 6 องค์กรภาคเหนือ ได้แก่

*มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ จ.น่าน* ก่อตั้งปี 2551 มีเป้าหมายการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชน สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการเรียนรู้ วิเคราะห์ชุมชน ระบบดิน น้ำ ป่า และสัมมาชีพ ตามแนวทาง “ตุมตาม หามโห่”  มูลนิธิฯ ได้ริเริ่มกิจกรรมสร้างสุข “วิถีธรรม วิถีความสุขของคนทำงาน” ทำงานด้วยหลัก 3 ธรรม ได้แก่ ธรรมชาติ คุณธรรม และธรรมปัญญา เพื่อสร้างสัมพันธ์ พูดคุยกันมากขึ้น ลดช่องว่างและเสริมสร้างทัศนคติให้คนทำงาน โดยมีรูปแบบการที่ยึดหยุ่น แบบครอบครัวและพี่น้องดูแลกัน

*มูลนิธิฮักเมืองน่าน  จ.น่าน* ก่อตั้งเมื่อปี 2533 ด้วยความฮักเมืองน่านของแกนนำและกลุ่มองค์กรท้องถิ่นในเมืองน่าน มีพระสงฆ์ ชาวบ้าน เยาวชนและเครือข่ายในท้องถิ่นร่วมกันขับเคลื่อนชุมชนและพื้นที่รักษาวิถีทางสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม การเกษตรและความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ “แบบคนน่าน” เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในท้องถิ่น และริเริ่มกิจกรรมสร้างสุข ฮักน่าน Happiness ให้มีการพูดคุย 1ครั้ง กิจกรรมทางกายออกแรงพัฒนาสักงานช่วยกัน ปลูกผักเป็นอาหารปลอดภัยในสำนักงาน เรียนรู้เครื่องมือทำงานใหม่ๆ ซึ่งพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

*มูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง จ.ลำปาง*  องค์กรการกุศลเพื่อการศึกษาให้คนตาบอด ก่อตั้งโดย พญ.วัฒนีย์ เย็นจิตร จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลลำปาง เมื่อปี 2521 เพื่อช่วยคนตาบอด รวมถึงความบกพร่องทางปัญญา เน้นการสอนให้ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน ด้วยการฝึกอาชีพ ปลูกผัก ร้านกาแฟ ขายผลิตผลทางการเกษตร  ผลิตตำราเรียนอักษรเบรลล์ และสื่อการเรียนการสอน มูลนิธิฯ ริเริ่มกิจกรรมสุนทรียสนทนา ฉัน-เธอ สร้างบรรยากาศให้คนทำงานให้เกิดการแลกเปลี่ยน รับฟังปัญหากันมากขึ้นในกลุ่มคนทำงาน

*สมาคมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.ลำพูน*  ก่อตั้งสมาคมฯ เมื่อปี 2550 จากแกนนำและเครือข่ายชุมชนจากปัญหาการขยายนิคมอุตสาหกรรม ด้วยการ “ลำพูนเสวนา” ให้ชุมชน กลุ่มองค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าด้วยเรื่องของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม “ป่าชุมชน” และการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้รู้เท่าทันปัญหาในทุกสถานการณ์  สมาคมฯ ได้ริเริ่มโครงการ “สร้างสุขจากภายใน” ร่วมสร้างความสมดุลให้ชีวิตคนทำงาน Health work life รวมถึงได้นำเครื่องมือตามแนวทางสร้างสุขไปปรับใช้ในกระบวนการทำงานของสมาคมฯ เยาวชน งานธิดา ดวงดี  เป็นต้น

*มูลนิธิวาย.เอ็ม.ซี.เอ.เพื่อการพัฒนาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่* ก่อตั้งปี 2537 เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านพัฒนาชนบทการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกัน ฟื้นฟู การอนุรักษ์ รักษาสมดุลธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายเขตภาคเหนือตอนบน เครือข่าย “Y Green School” เยาวชนทั้งชาวไทยและต่างชาติ  มูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญกับความทุกข์สุขคนทำงานโดยจะริเริ่มกิจกรรมสร้างสุข ภายใต้หลักการทำงาน 3 คำ คือ Spirit Mine and Body 

*สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย* ก่อตั้งโดย ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เมื่อปี 2537 และเป็นที่รู้จักในนาม *“ศูนย์เรียนรู้ม่อนแสงดาววิชชาลัย”* โรงเรียนทางเลือกสัมมาชีพ 5 ด มีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ศึกษานอกโรงเรียนให้กับเด็กยากจนในชุมชน เด็กชาวเขา สนับสนุนทุนการศึกษา และช่วยประสานงานสถานที่และองค์กรต่างๆ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้ฝึกงานตามสายอาชีพที่ต้องการ 

*การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ 6 องค์กรข้างต้น* ได้เห็นถึงบทบาทและการทำงานที่หลากหลายตามภารกิจงาน สภาพปัญหาของพื้นที่ คนทำงานส่วนใหญ่หลงลืมความสุข และความสัมพันธ์ภายในองค์กรที่อาจมองข้าม ทำให้ขาดความสมดุล ภาคีที่เข้าร่วมจึงได้ตระหนักและริเริ่มกิจกรรมจากเรื่องง่ายๆ  ใกล้ตัวและบริบทในการทำงาน เช่น เปิดใจพูดคุย ออกกำลังกาย ปลูกผัก เพื่อให้เกิดกิจกรรมสร้างเสริมเป็นวิถีความสุขเล็กๆ ในองค์กรและเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างแล้ว และพร้อมจะร่วมการขับเคลื่อนในระยะต่อไป