การพัฒนาเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ SPC Outreach in Asia – The Next Five ระหว่างวันที่ 23-26 ตุลาคม 2565 ณ เมืองทิมพู ประเทศภูฏาน

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดย ดร.ฉัตรตรี ภูรัต, ดร. ถนอมลาภ รัชวัตร์ และ ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง เข้าร่วมสนับสนุนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญกับ GIZ ประเทศไทย และผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และเหล็กเส้น โดยถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภูฏาน
 
การพัฒนาเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ SCP Outreach เป็นโครงการที่ส่งเสริมเศรษฐกิจการปล่อยมลพิษต่ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้อย่างมีข้อมูล ซึ่งได้รับทุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) โดย GIZ ร่วมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงเศรษฐกิจของภูฏาน
 
เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในขั้นตอนหรือกระบวนการที่สำคัญในการแยกความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ทั่วไป  เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยสนับสนุนผู้บริโภคและผู้ผลิตในการระบุผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนมากขึ้นในมิติต่าง ๆ เช่น การใช้วัสดุและพลังงาน การจัดการของเสีย น้ำเสีย   สารเคมี และการรีไซเคิล เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมยังระบุถึงผลกระทบที่มีความสำคัญตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยอิงจากการประเมินหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล  เกณฑ์จะถูกพัฒนาโดยยึดมั่นในหลักการของความโปร่งใส ความสมัครใจ และแสดงถึงความสมดุลของผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
 
ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวคิดตลอดวัฏจักรชีวิตและ ISO 14024 ซึ่งเป็นหลักการในการพัฒนาเกณฑ์ ทั้งนี้การใช้วัสดุและพลังงาน ตลอดจนการปล่อยก๊าซเรือกระจกได้ถูกกำหนดให้เป็นจุดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงและนำมากำหนดเป็นเกณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบและกระบวนการรับรอง และการสนับสนุนจากโครงการเพิ่มเติม สำหรับใช้เป็นแนวทางพื้นฐานเพื่อพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 (ISO14024) และการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของประเทศภูฏาน ต่อไป