กทม.จับมือสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่สีเขียวริมคลองฝั่งธน

ผนึกกำลังเครือข่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนพัฒนาพื้นที่สีเขียวริมคลองฝั่งธนบุรี

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเครือข่ายการพัฒนาคลองฝั่งธนบุรี เพื่อหารือและร่วมพัฒนาแผนเศรษฐกิจสีเขียวชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีอย่างยั่งยืน ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ ดร.วิจารย์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมด้วยเครือข่ายการพัฒนาคลองฝั่งธนบุรี ได้นำสรุปผลโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสีเขียวชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรี จากการหารือร่วมกันปัญหาหลักๆ ที่เราเจอจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพทางฝั่งธน จะเห็นว่าสมัยก่อนทางฝั่งธนมีคลองเยอะ ช่วยเรื่องการชลประทานเอาน้ำเข้าเรือกสวน ปัจจุบันคลองเปลี่ยนเป็นหน้าที่ระบายน้ำ จะมีประตูระบายน้ำอยู่ด้านหน้า จึงทำให้การเดินทางที่เคยสะดวกเรือเดินเข้าเดินออกเปลี่ยนแปลงไป

การที่ปิดประตูระบายน้ำจึงทำให้วิถีชาวบ้านเปลี่ยนไปในการเดินทาง เรื่องการประสานงานในการเปิดปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้เรือเดินเข้าเดินออกได้จึงต้องมีการหารือกัน หรือในปัจจุบันมีน้ำเค็มเข้ามารุกในพื้นที่คลองเยอะ ทำให้วิถีชาวบ้านต้องเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเคยปลูกส้มบางมดปลูกลิ้นจี่ เมื่อมีน้ำกร่อยเข้ามาชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องมีการหารือร่วมกัน การดูแลน้ำเค็มที่รุกเข้ามา การดูแลเรื่องปรับเปลี่ยนตัวประตูระบายน้ำ เรื่องนี้คือสภาพทางกายภาพของเมืองที่เปลี่ยนไป

“ทำอย่างไรที่จะให้วิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งยังมีคุณค่าอยู่สามารถอยู่ได้ และอยู่ร่วมกับสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญเลยที่กรุงเทพมหานครต้องเข้าไปช่วยดูแล ซึ่งเราเองต้องอาศัยชาวบ้านในชุมชน โดยวันนี้มากันหลายชุมชน เช่น ชุมชนพูนบำเพ็ญ ชุมชนคลองบางมด ชุมชนถิ่นคุณกะลา ชุมชนบางขุนเทียน ที่ยังมีความเข้มแข็งอยู่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ดร.วิจารย์ กล่าวด้วยว่า สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาคลองระดับพื้นที่ ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรี เป็นการศึกษาวิจัยชุมชน ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ซึ่งจะมีวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวซึ่งยังมีอยู่
 


โดยทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะนำสิ่งที่กรุงเทพมหานครมีอยู่การส่งเสริมการท่องเที่ยว การมีชีวิตอย่างยั่งยืนอยู่กับสภาพธรรมชาติสอดคล้องรองรับกับการวิจัยสภาพภูมิศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เราจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งเราจะขับเคลื่อนกันต่อ โดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เราเป็นองค์กรที่จะสนับสนุนด้านวิชาการ จะทำอย่างไรให้ชุมชนอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น เรื่องผังเมือง เรื่องอื่นๆ ที่เราจะทำงานร่วมกันต่อไป
 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กรุงเทพมหานครต้องทำอย่างเร่งด่วนมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ทางด้านกายภาพ การเปิดปิดประตูระบายน้ำ การดูแลน้ำเค็มที่เข้ามา การดูแลจัดเก็บขยะ ดูแลสภาพแวดล้อมให้ดี ทางเดินริมคลองเพื่อให้คนเดินทางสะดวกขึ้น การเชื่อมต่อรถรางเรือ อาจจะดูว่าสถานีรถไฟฟ้าสามารถเชื่อมต่อกับคลองได้หรือไม่ รวมถึงอุปสรรคเรื่องท่อที่เรือลอดผ่านไม่ได้ จะหาแนวทางแก้ไขได้อย่างไร ในภาพรวมต้องปรับสภาพทางด้านกายภาพให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องต่อมา เป็นการเน้นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สร้างเศรษฐกิจสร้างอัตลักษณ์ในชุมชนให้สามารถอยู่รอดได้ เพื่อคงวิถีชีวิตที่มีคุณค่าไว้ อย่างเช่น ชุมชนพูนบำเพ็ญ ที่มีการทำโฮมสเตย์ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา สร้างชุมชนให้เข้มแข็งรักษาสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวชุมชนไว้ ชุมชนคลองบางมด มีฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ชุนชนตลาดพลู มีวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม ชุมชนถิ่นคุณกะลา ซึ่งมีพื้นที่อยู่ 12 ไร่ จะย้ายประชากรลิงเข้ามาให้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
 

“เราต้องพัฒนาชุมชนให้สามารถดูแลตนเองได้ จากนั้นเอาโมเดลเหล่านี้ขยายต่อสู่ชุมชนอื่นๆ จะต้องทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง ถ้าชุมชนอ่อนแอ เมืองไม่สามารถเข้มแข็งได้ ฝั่งธนไม่เหมือนฝั่งกรุงเทพ ทั้งวิถีชีวิตสภาพคลองซึ่งเป็นคนละรูปแบบกัน ซึ่งขนาดของชุมชนไม่ได้เพิ่ม แต่เราจะขยายไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย

ในการประชุมหารือวันนี้มี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและข้าราชการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันคลังสมองของชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสยาม กลุ่มยังธน ชุมชนคลองบางประทุน ชุมชนพูนบำเพ็ญ ชุมชนคลองบางมด ชุมชนถิ่นคุณกะลา ชุมชนบางขุนเทียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม


#เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์