Resilient City เมืองอยู่ดีเมืองอยู่รอดปลอดภัย สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

26 กันยายน 2565  โอกาสไทยเป็น Resilient City เมืองอยู่ดี เมืองอยู่รอดปลอดภัย ในวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 


กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดกิจกรรมเสริมศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน มุ่งสู่ Resilient City ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2565 เพื่อชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองจะต้องปรับเปลี่ยน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงและส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆและการรับมือกับภัยพิบัติเป็นครั้งคราวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป
 

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “Resilient City” คือ เมืองที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วหากเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบน้อย ปรับตัว และจะฟื้นตัวเร็ว การที่เราให้ความสำคัญต่อพื้นที่เมืองเพราะเมืองเป็นศูนย์รวมของผู้คน การบริการ การค้า และการบริหารจัดการ หากเกิดภัยพิบัติก็จะส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก และผลกระทบจะส่งต่อไปอย่างเป็นลูกโซ่
 

ด้านดร.พรพิมล วราทร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมืองมีการเติบโตอย่างรวดเร็วคาดว่าในอนาคตทวีปเอเชียจะมีประชากรอยู่ในเมืองมากถึงร้อยละ 80 ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกระทบต่อสมดุลในระบบนิเวศอย่างแน่นอน 
 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2566 นี้ จึงกำหนดเป้าหมายในการลดความเสี่ยง ความเสียหาย ผลกระทบตามธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มภัยให้คนไทยหากเกิดภัยพิบัติ จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องยกระดับการปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
 


ขณะที่ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง ชี้ให้เห็นว่าการที่เมืองขยายตัวอย่างไร้แบบแผน ส่งผลกระทบให้เมืองมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติ ควรวางผังและแผนชี้นำให้เมืองขยายตัวตามทิศทางที่เหมาะสม แทนการปล่อยให้เมืองเติบโตอย่างไร้แบบแผนแล้วตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร้อนและมลพิษ รวมถึงเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถคาดการณ์ผลกระทบในระดับท้องถิ่น 
 

คุณชมพูนุท ส่งข่าว ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. กล่าวว่าสผ.ได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593ขึ้นเป็นกรอบการดำเนินงานระยะยาว ให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และจัดทำแผนด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำหนดมาตรการตามบริบทของพื้นที่เมืองขนาดต่าง ๆ ส่งเสริมการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างที่ใช้แนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ การเตือนภัยพิบัติที่แม่นยำ การดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 

นอกจากนี้ คุณวรพงศ์ อุตทานนท์ตรี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้มีการปรับแผนที่จะให้ความสำคัญกับความร่วมมือ และประเด็นของ Resilient City เพื่อการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป กิจกรรมในครั้งนี้ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝน ช่วงเวลาฝนตก และการกระจายตัวของฝนเปลี่ยนแปลงชัดเจน 
 

อย่างกรณีที่น้ำท่วมกรุงเทพมหานครในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ และต่อจากนี้ไปแบบแผนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม มีเทคโนโลยีและระบบเตือนภัยที่ละเอียดมากขึ้นและคำนึงถึงกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบสูง สำหรับกรณีการเตรียมความพร้อมของเมืองในบางประเทศซึ่งได้เริ่มมาก่อนประเทศไทย ได้มีการออกแบบเมือง จัดทำผัง และวางแผนลดปัญหาและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการจัดให้มีพื้นที่รองรับน้ำ มีแหล่งอาหารและพลังงานสำรอง มีการพัฒนาและปรับตัวบนฐานของระบบนิเวศ(Ecosystem-based Adaptation หรือ EbA) เพื่อส่งเสริมความสามารถของเมืองในการปรับตัวต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
 

คุณเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า สำหรับการเสวนาครั้งนี้ มีความสำคัญในการรวบรวมข้อมูลด้านการส่งเสริมโอกาสของไทยสู่การเป็น Resilient City เมืองอยู่ดีเมืองอยู่รอดปลอดภัย ในวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลทำการเผยแพร่และขยายผลเรื่องนี้ให้กว้างมากขึ้น


ที่มา MCOT