ศักยภาพดินสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและการส่งเสริมระบบการผลิตพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการเผา

5 สิงหาคม  2567 ที่ผ่านมา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดยโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา การจัดการและลดหมอกควันข้ามแดน นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและป่าไม้ คุณวชิราภรณ์ สมเดช ทีมประสาน พร้อมและคุณอรรถพันธ์ ศรีศุภโอฬาร ผู้อำนวยการฯ คุณดำรงฤทธิ์ ศิริข่วง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ร่วมสำรวจศักยภาพและประเมินความเหมาะสมของดิน สำหรับเป็นฐานข้อมูลในการส่งเสริมระบบการเพาะปลูกและผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกพืชลดการเผาหรือพืชไม่เผา และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประเมินดินอย่างง่าย ณ บ้านห้วยทอง เมืองปากทา สปป.ลาว ด้วยการสำรวจศักยภาพของดินเพื่อประเมินคุณสมบัติพื้นฐานของดิน ให้เข้าใจถึงศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร อาทิ ลักษณะทางกายภาพของดิน เนื้อดิน ดูความลึกและชั้นดิน ความเป็นกรด-ด่าง (pH) การระบายน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน โครงสร้างดิน ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ชุมชนสามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือร่วมกับทีมงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจใช้ประโยชน์จากดินอย่างเหมาะสม

โดยในเบื้องต้นได้มีการถ่ายทอดเทคนิคอย่างง่ายให้กับผู้นำชุมชนและเกษตรกร อาทิ การเก็บตัวอย่างดิน เพื่อดูธาตุอาหารในดิน โดยพบว่าดินในพื้นที่ชุมชน มีธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในปริมาณที่เพียงพอ และมีค่า pH เป็นกลาง สามารถปลูกพืชหลายชนิด ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแนะนำพืชทางเลือก อาทิ ยางพารา ฟักทอง แตง หลังนา เพื่อลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรและยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ คุณสมบัติพื้นฐานของดินโดยรวมในหมู่บ้านนำร่อง จะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงแก้ไขความอุดมสมบูรณ์ของดินและวางแผนการปลูกพืชและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต ลดการเผา พร้อมหารือและวางแผนกิจกรรมเพื่อเสริมระบบการเกษตรเดิมที่มีผลต่อการลดการเผาของชุมชนร่วมกันต่อไป