Fresh market operators and retailers acceptation on Green-packaging sales options  (In Thai)

9 กุมภาพันธ์ 2566 โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและเสนอกลไกการขับเคลื่อนตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ได้รับงบประมาณสนับสนุนปี 2565 จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมควบคุมมลพิษ และกลุ่ม PPP Plastics จัดประชุมกลุ่มย่อยผู้ประกอบการตลาดสดและร้านค้ารายย่อย เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการเลือกจำหน่ายหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกเป้าหมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจาก 
นายปริญญา ธรรมวัฒนะ นายกสมาคมตลาดสดไทย และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา  ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเปิดประชุมในครั้งนี้ 

ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
  • การส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น ราคาของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นควรมีราคาที่ถูกลง หากบรรจุภัณฑ์ราคาสูงจะส่งผลโดยตรงกับผู้บริโภคทันที 
  • การเลือกขายสินค้าที่มีสัญลักษณ์บ่งชี้ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ควรมีการระบุสัญลักษณ์ที่แสดงประเภทของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนตั้งแต่ผู้ผลิต ภาครัฐควรรณรงค์ส่งเสริมทำความเข้าใจกับผู้บริโภคถึงความหมายของสัญลักษณ์บ่งชี้ต่าง ๆ ทั้งวิธีการแยกทิ้งหรือวัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้  
  • การไม่ขายจำพวกโฟม หลอดพลาสติก กล่องพลาสติก ถุงพลาสติกแบบบาง บางประเภทยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ อาทิ หลอดพลาสติกสำหรับดูดน้ำและกล่องโฟมเนื่องจากราคาที่ถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ถ้าหากต้องการยกเลิกโฟมต้องสั่งห้ามการผลิต เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการฯ จะจัดทำข้อเสนอเชิงปฏิบัติต่อการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งมอบให้กับกรมควบคุมมลพิษต่อไป